ส่วนภัยพิบัติที่เป็นความเสี่ยงของเด็กๆ และชุมชนที่อำเภอสังขละบุรี คือ น้ำป่าหลากท่วม ด.ญ.โชติกาหรือ น้องโช(กลางซ้าย)ชั้นประถม 6จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ดำเนินงานโครงการพัฒนาฯ สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ในฐานะตัวแทนเล่าถึงสิ่งที่เธอและเพื่อนๆ ในกลุ่มช่วยกันวาดขึ้น “หมู่บ้านและโรงเรียนของพวกเราตั้งอยู่บนภูเขาสูงค่ะ และอยู่ใกล้กับคลองซองกาเลีย คลองเดียวกันกับที่มีสะพานมอญข้ามที่มีนักท่องเที่ยวมากันเยอะๆ ด้วยค่ะ เป็นวิถีชีวิตคนกะเหรี่ยงตั้งแต่โบราณค่ะที่จะเลือกตั้งหมู่บ้านใกล้ๆ กับแหล่งน้ำ หมู่บ้านของพวกหนูสวยมากเลย โดยเฉพาะในฤดูฝน และฤดูหนาว แต่หนูไม่ชอบฤดูฝนเลยค่ะ เพราะเวลาฝนตกหนักติดต่อกันหลายๆ วันบนภูเขา จะมีน้ำป่าไหลลงมาจากภูเขาแรงมากตอนหนูอยู่ประถม 2(ปี 2018) หนูจำได้ว่าที่โรงเรียนของหนูและหมู่บ้านโดนน้ำป่าท่วมสูงมากเลยค่ะ มีน้ำป่าท่วมเกือบทุกปี ปีที่แล้วก็มีค่ะ”
ด.ญ.เสาวรัตน์หรือที่เพื่อนๆ เรียกกันติดปากว่า โบว์ (กลางขวา)ตัวแทนอีกคนเสริมขึ้นว่า “เวลามีน้ำป่าท่วมหมู่บ้าน และท่วมโรงเรียน พวกหนูและเด็กๆ ต้องรีบออกห่างจากคลองค่ะ แล้วก็จะต้องอยู่แต่บนบ้าน แต่ถ้าน้ำท่วมหนักๆ จนสูงมากก็จะต้องไปอยู่รวมกันที่อาคาร 2ชั้นที่โรงเรียนค่ะ ถ้าพวกเราจะต้องหนีไปอยู่ที่โรงเรียน สิ่งที่เราจะต้องเตรียมติดตัวไปด้วยก็คือ อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรค เสื้อผ้า และของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นค่ะเราจะต้องช่วยคุณครูดูแลน้องชั้นเล็กๆ ไม่ใช้ลงไปเล่นน้ำด้วยค่ะ เพราะเวลาน้ำป่ามา น้ำจะไหลแรงมาก ถ้าถูกน้ำพัดพาหายไปจะทำให้เป็นอันตรายจนเสียชีวิตได้ค่ะ”
ผลงานการจัดทำแผนที่ดังกล่าวของเด็กๆ จากทั้ง 2ผลงานนี้ เกิดขึ้นจาก การอบรม “ส่งเสริมการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กนักเรียนมีความสามารถในการรองรับภัยพิบัติ” ซึ่งมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยภายใต้การดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดภัยในอาเซียน (ASEAN Safe School Initiative)ได้ดำเนินงานขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ในพื้นที่โครงการพัฒนาฯทองผาภูมิและสังขละบุรีจ.กาญจนบุรีบูรณาการความรู้เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและป้องกันตนเองจากภัยพิบัติ เข้ากับกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีความเปราะบาง ยากไร้ ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะได้มีการจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้การเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติให้แก่เด็กๆ ทั่วประเทศต่อไปด้วย
คุณสัมพันธ์ กรอบกระจก ผู้เชี่ยวชาญงานตอบสนองด้านมนุษยธรรมในสถานการณ์ฉุกเฉิน มูลนิธิศุภนิมิตฯ กล่าวถึงกิจกรรมการสรุปความรู้ด้วยวิธีให้เด็กๆ ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาดว่า “เพราะการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนช่างจดช่างจำ ช่างอ่าน แต่บางคนจำและนำไปปรับใช้ได้ด้วยระบบคิดที่จะต้องเห็นเป็นภาพ การให้เด็กๆ แบ่งกลุ่มช่วยกันจัดทำภาพวาดแผนที่จุดเสี่ยงในชุมชนนี้ จึงเป็นทั้งการทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยง ภัยพิบัติ ชุมชนของเด็กๆ มีความเสี่ยงจากภัยพิบัติหรือไม่ อย่างไร และถ้าเกิดภัยพิบัติและจะต้องอพยพจากบ้าน สิ่งของจำเป็นที่เด็กจะต้องเตรียมคืออะไร และยังเป็นแบบทดสอบหลังบทเรียนที่จะทำให้ทราบได้ว่าเด็กๆ สามารถนำความรู้ต่างๆ ไปปรับใช้เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นจริงๆ ได้หรือไม่อีกด้วย”