โรคไข้มาลาเรีย หรือที่เรียกแตกต่างกันไปตามลักษณะอาการหรือฤดูกาลเกิดโรค ไม่ว่าจะเป็น ไข้จับสั่น ไข้ป่า ไข้ดง ไข้ดอกสัก ไข้ร้อนเย็น หรือ ไข้ป้าง มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ซีดลงเนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก ถ้าเป็นชนิดรุนแรงอาจมีอาการไตวาย ตับอักเสบ ปอดผิดปกติ และอาจมีอาการผิดปกติทางสมองที่เรียกว่า มาลาเรียขึ้นสมอง ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน
จากรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคมาลาเรีย (กรมควบคุมโรค) พบว่า “สถานการณ์โรคมาลาเรียในปี 2566 พบพื้นที่ที่มีผู้ป่วยสูงและเพิ่มขึ้น 6 จังหวัด (ก.พ.–พ.ค. 2566) ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ มีผู้ป่วย 2,991 ราย คิดเป็น 96% ของผู้ป่วยทั้งประเทศ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเนื่องจากพ้นช่วงโควิด-19 แล้ว ทำให้มีการเดินทางข้ามแดนมากขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น”
เนื่องในโอกาส วันมาลาเรียโลก 2566 มูลนิธิศุภนิมิตฯ จับมือหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม 24 หน่วยงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้มาลาเรียในพื้นที่แพร่เชื้อสูง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่แพร่ระบาดรุนแรงของโรคไข้มาลาเรียและประชากรส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก และมีการเข้าออกของกลุ่มประชากรข้ามชาติ จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังเพื่อควบคุมการระบาดของโรค และมีความสำคัญอย่างยิ่งในการ สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนประการที่ 3โดยมี นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานในพิธีฯ พร้อม แพทย์หญิงเสาวนีย์ วิบุลสันติ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ในอำเภอแม่สะเรียง และอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน