Yadanar Aung เป็นแรงงานต่างชาติจากเมียนมา อาศัยและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ โดยทำงานรับจ้างชั่วคราวตามร้านค้าต่างๆ และยังเป็น อาสาสมัครต่างชาติ ของ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย โดยทำงานสนับสนุนโครงการที่ได้รับทุนจาก โปรแกรม Safe and Fair และจาก องค์การอนามัยโลก (WHO)
"น้องชายของฉันก็เป็นอาสาสมัครต่างด้าวเช่นกัน หน้าที่ของฉันในฐานะอาสาสมัครต่างด้าวคือช่วยเป็นล่ามให้พี่น้องแรงงานเมียนมาเวลามีการจัดกืจกรรมในชุมชนแรงงานเมียนมา รวมถึงในกระบวนการเดินเอกสารทางกฏหมาย"
Yadanar Aung ได้รับเชิญจากโปรแกรม Safe and Fair เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับภาคพื้นทวีป ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่กรุงเทพฯ "ฉันตกปากรับคำเชิญเข้าร่วมกิจกรรมนี้โดยไม่ลังเล ฉันได้พูดเป็นคนที่สาม รู้สึกตื่นเต้นมาก ฉันได้พูดต่อจากคนเวียดนามซึ่งเป็นหญิงพิการ ฉันรู้สึกสงสารจับใจเมื่อได้ยินเขาเล่าถึงความยากลำบากนานาประการที่ได้ประสบมา ฉันรู้สึกชื่นชมใจที่แข็งแกร่งและความมุ่งมั่นในการเรียกร้องสิทธิเพื่อตนเองและเพื่อนๆ สตรีของเขา และได้ยินเช่นนั้นก็รู้สึกมั่นใจที่จะพูดยิ่งขึ้น"
"ฉันตอบรับที่จะพูดในการประชุมครั้งนี้เพราะอยากเป็นกระบอกเสียงให้พี่น้องแรงงานต่างชาติเพื่อพูดถึงความท้าทายในการดำรงชีวิตและทำมาหากินต่างบ้านต่างเมือง อย่างที่ทุกคนทราบกันดี สถานการณ์ในประเทศของเราลำบากมากตอนนี้ ตอนที่ฟังพี่จากเวียดนามพูดในการประชุม ฉันรู้สึกราวกับกำลังฟังเรื่องราวของพวกเราชาวเมียนมาเอง"
"เราเองมีแรงงานต่างชาติหญิงหลายคนที่พบปัญหาและประสบความรุนแรงแต่ไม่สามารถบอกใคร เราได้เริ่มพูดคุยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และด้วยความช่วยเหลือของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้มีการเริ่มพูดถึงการปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง และให้พวกเขาได้เข้าถึงโอกาสต่างๆ โดยไม่ต้องประสบความรุนแรงหรือการคุกคามใดๆ ฉันอยากจะขอให้ทางนายจ้างมีกลไกการร้องเรียนและชดเชยเพื่อเยียวยาผู้ประสบเหตุ โดยมีการรักษาความลับและรับประกันว่าผู้รายงานเหตุความรุนแรงในสถานที่ทำงานจะไม่ถูกบีบให้ต้องลาออกจากงาน และนายจ้างควรสนับสนุนให้พนักงานในทุกระดับได้รับการฝึกอบรมในประเด็นเรื่องความรุนแรงและการคุกคามในที่ทำงาน"
ในฐานะที่เป็นแรงงานต่างชาติหญิง Yadanar Aung ถ่ายทอดว่า "เรามักพบเจอการถูกเลือกปฏิบัติและประสบความรุนแรง ไม่เพียงเพราะเราเป็นเพศหญิงและมีสถานะเป็นคนต่างด้าวเท่านั้น แต่รวมถึงด้วยความพิการด้วย พอกันทีกับเรื่องแบบนี้!"
"ฉันภาคภูมิใจและรู้สึกขอบพระคุณที่ได้รับโอกาสนี้ การประชุมครั้งนี้ทำให้ฉันได้เรียนรู้มากมาย ได้พัฒนาความมั่นใจ และเข้าใจว่ายังมีเจ้าหน้าที่จากภาครัฐและประเทศอืนๆ รับฟังเราและพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน"
หัวใจแห่งมนุษยธรรมและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการสร้างสถานที่ทำงานให้เป็นที่ปลอดภัยและเป็นธรรมต่อทุกเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสตรี การประชุมครั้งนี้เสริมสร้างให้ฉันเกิดความเข้มแข็งและมีพลังใจในการเดินหน้าทำงานต่อไปเพื่อช่วยเหลือผู้คนผ่าน โครงการ REACH ของมูลนิธฺศุภนิมิตฯ และเดินเคียงข้างเหล่าเพื่อนสตรีชาวเมียนมาบนเส้นทางนี้
ในฐานะอาสาสมัครต่างด้าว Yadanar Aung ตั้งใจจะทำงานเพื่อให้ความรู้และขจัดการแสวงหาประโยชน์เนื่องจากการขาดความรู้และไม่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งจะเป็นเกราะกำบังที่ดีที่สุด เธออยากเห็นสังคมที่ประชากรต่างชาติหญิงได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและได้รับโอกาสการทำงานที่เท่าเทียมเพื่อพวกเขาสามารถทำตามความฝันและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข