“หนูชอบมากินข้าวเช้าที่โรงเรียน ได้กินกับเพื่อนๆ สนุกดีและกับข้าวที่ครูทำให้ก็อร่อยค่ะ” อีกเสียงความสุขของ น้องแพท อายุ 6 ปี ชั้นอนุบาล 3
ในยุคสมัยที่ค่าครองชีพขยับตัวสูงขึ้นรายวัน หลายครอบครัวต้องดิ้นรนทำงานหาเงิน การออกบ้านเช้ากลับบ้านค่ำจึงเป็นภาพที่ชินตาสำหรับหลายครอบครัว การใช้เวลาในการดูแลลูกถูกลดลำดับความสำคัญลง ยิ่งการเตรียมอาหารมื้อเช้าให้ลูกยิ่งยากที่จะจัดสรรเวลาทำได้ ภาวะเร่งรีบเช่นนี้เกิดขึ้นทั้งในสังคมเมืองและต่างจังหวัด
จากข้อมูลของ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (2565) แสดงให้เห็นว่าภาวะโภชนาการยังเป็นประเด็นที่ยังน่ากังวล เนื่องจากสัดส่วนของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีภาวะเตี้ย ผอม และน้ำหนักเกินในภาพรวมมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น
- เด็กมี ‘ภาวะเตี้ย’ ร้อยละ 7
- เด็กมี ‘ภาวะผอมแห้ง’ ร้อยละ 7
- เด็กมี ‘ภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน’ ร้อยละ 5
ทั้งหมดคือภาวะทุพโภชนาการในเด็ก สำหรับเด็กเปราะบางยากไร้ สาเหตุที่เป็นรากของปัญหานี้คือความยากจนและการเข้าไม่ถึงแหล่งอาหารที่เพียงพอ แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด เพราะปัญหาที่สำคัญและเป็นข้อท้าทายอีกสิ่งหนึ่งคือ การที่พ่อแม่/ผู้ปกครองเด็กยังขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องด้านโภชนาการ ทั้งยังขาดความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของอาหาร โดยเฉพาะอาหารมื้อเช้าซึ่งเป็นมื้อที่มีความสำคัญมากสำหรับเด็กเล็ก เพราะร่างกายและสมองของเด็กเล็กอยู่ในช่วงการเติบโตอย่างรวดเร็ว ร่างกายมีความต้องการใช้สารอาหารที่จำเป็นในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอ
นางสาวธรรมิตาว์ สุทธิ ครูโรงเรียนบ้านชาติตระการ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ถ้าจะพูดถึงปัญหาด้านโภชนาการของเด็กๆ ที่พบ เด็กจะมีร่างกายที่ผอมและน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ซึ่งส่วนตัวมองว่าสาเหตุน่าจะมาจากเรื่องพฤติกรรมในการกินอาหาร เด็กบางคนกินน้อย ไม่กินผัก ไม่กินผลไม้ อีกส่วนคือเด็กไม่ได้กินอาหารที่เหมาะสมสำหรับเขา เพราะผู้ปกครองต้องรีบเตรียมตัวออกไปทำงาน ไม่มีเวลาเตรียมอาหารเช้าที่เหมาะสมให้ลูกๆ”