close

This option is currently not available

Close close
มูลนิธิศุภนิมิตฯ เสริมสร้างสุขภาวะแรงงานต่างชาติอย่างเท่าเทียม ร่วมยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2030

ยุติเอดส์ ‘Equalize : ทำให้เท่าเทียม’

เสริมสร้างสุขภาวะแรงงานต่างชาติอย่างเท่าเทียม ร่วมยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2030

มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อยุติปัญหาเอดส์ผ่านการดำเนินงาน โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ ด้วยชุดบริการ RRTTPR โดยได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนโลก มาตั้งแต่ปี 2003 โดยดำเนินงานในกลุ่มประชากรข้ามชาติ ให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการข้อมูล การป้องกัน ตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษา รวมถึงการสนับสนุนและช่วยเหลือ การรณรงค์ให้ทุกคนมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อโดยไม่ตีตราหรือเลือกปฏิบัติ ปัจจุบันโครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ฯ ดำเนินงานใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี เชียงราย ตาก ระนอง และภูเก็ต

เนื่องใน วันเอดส์โลก ประจำปี 2022 โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ ได้ร่วมกับ กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ การป้องกัน การเข้าถึงบริการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา รวมถึงยังได้จัดหน่วยบริการตรวจวินิจฉัย และบริการเอกซเรย์คัดกรองวัณโรคซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ และเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบมากที่สุดในผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงมีการมอบถุงยังชีพพร้อมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้กับกลุ่มแรงงานต่างชาติในบ้านพักคนงานก่อสร้างของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซ.ไผ่สิงห์โต เขตคลองเตย กรุงเทพฯ มีแรงงานต่างชาติเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 175 คน

“อิตาเลียนไทยให้ความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพที่ดีในกลุ่มแรงงานทุกคน รวมถึงแรงงานต่างชาติด้วย ในบ้านพักที่ ซ.ไผ่สิงห์โต มีบ้านพักอยู่ 2 แคมป์ รวมจำนวนแรงงานเกือบ 400 คน ในการอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก เราพยายามให้ความรู้แก่แรงงานต่างชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านสุขภาพ รวมถึงพฤติกรรมส่วนบุคคลที่อาจจะก่อให้เกิดโรคติดต่อด้วย การร่วมมือกับมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในการส่งเสริมความรู้การป้องกันเอดส์ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกเลยที่เรามีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับโรคเอดส์ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง สำหรับแรงงานต่างชาติแต่ละคนมีฐานความรู้ที่ไม่เท่ากัน แต่การทำให้พวกเขาได้เข้าใจถึงการป้องกันและรู้จักกับโรคติดต่อที่ร้ายแรงนี้ จะช่วยส่งเสริมให้พวกเขามีพฤติกรรมส่วนบุคคลที่เสริมสุขภาพของพวกเขา ต้องขอบคุณมูลนิธิศุภนิมิตฯ แทนแรงงานต่างชาติในแคมป์ก่อสร้างด้วย” นายผิน สันนอก ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส ผู้ดูแลแคมป์คนงานก่อสร้างอิตาเลียนไทย ซ.ไผ่สิงห์โต เขตคลองเตย กรุงเทพฯ

Thet Thet Khaing อายุ 42 ปี แรงงานก่อสร้างชาวเมียนมา ที่ได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า “เคยได้ยินเรื่องโรคเอดส์ค่ะ รู้ว่าเป็นโรคร้ายแรง เป็นแล้วอาจจะถึงตาย วันนี้ได้เรียนจากคุณหมอว่าโรคนี้เกิดจากอะไร ทำแบบไหนมีความเสี่ยงจะติดโรค ทำแบบไหนที่จะสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อค่ะ ได้ตรวจเลือด ได้ตรวจปอดด้วยค่ะ ที่สำคัญได้เข้าใจมากขึ้นว่าถ้าติดเชื้อแล้วรักษา ได้รับยาต้านไวรัส เราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ค่ะ”

นอกจากในกรุงเทพฯ แล้ว โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ยังได้ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดกิจกรรมเนื่องใน วันเอดส์โลก 2022 ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ การป้องกัน การเข้าถึงบริการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา ในอีก 6 จังหวัดพื้นที่ดำเนินงาน ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี เชียงราย ตาก ระนอง และภูเก็ต มีกลุ่มประชากรข้ามชาติร่วมกิจกรรมรวมมากกว่า 1,300 คน

นับตั้งแต่ปี 2003 มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก ในการดำเนินงาน โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ โดยดำเนินงานในกลุ่มแรงงานต่างชาติเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีและช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ ปัจจุบัน มูลนิธิศุภนิมิตฯ ให้ความช่วยเหลือประชากรข้ามชาติได้กว่า 685,000 คนผ่านการให้ความรู้ด้านสุขภาพ รวมถึงประชากรข้ามชาติกว่า 26,000 คนได้รับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี และกว่า 300 คนได้รับการสนับสนุนให้สามารถเข้าถึงยาต้านไวรัส

“การดำเนินงานของเราเพื่อยุติปัญหาเอดส์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่ดีมีสุขของเด็ก มูลนิธิศุภนิมิตฯ ขอเรียกร้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ร่วมกันทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกคน ไม่ว่าจะเชื้อชาติ เพศ หรือสัญชาติใด ควรสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมเพื่อช่วยกันยุติปัญหาเอสด์ภายในปี 2030” ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตฯ กล่าวเน้นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างสุขภาวะแรงงานต่างชาติอย่างเท่าเทียมเพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 3