
ศุภนิมิตฯ และ IOM
ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเข้าถึงบริการฉีดวัคซีนโควิด-19
มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration : IOM) สานพลังเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติ ขับเคลื่อน โครงการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติกลุ่มเปราะบางที่สุดและยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ได้รับบริการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ในการป้องกันตนเอง ปกป้องเด็กๆ ที่เป็นลูกหลานของแรงงานข้ามชาติ และช่วยเหลือชุมชนให้ปลอดภัยจากการระบาดของโควิด-19 ด้วย
“ข้อมูลจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข แผนงานประชากรข้ามชาติ ภายใต้แผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก รายงานว่ามีแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยที่ได้รับเชื้อโควิด-19 มากกว่า 100,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทย เป็นข้อมูลเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่มีตัวตน เข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ ด้านสาธารณสุขและบริการขั้นพื้นฐาน แต่ในความเป็นจริงยังมีแรงงานข้ามชาติอีกเป็นจำนวนมากที่เป็นประชากรแฝง อยู่ในสถานะไร้ตัวตน เป็นเหตุให้ไม่กล้าที่จะเข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ รวมถึงสิทธิ์บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน กลุ่มหลังนี้ รวมถึงลูกหลานในครอบครัวที่เดินทางติดตามพ่อแม่แรงงานข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทย มีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับเชื้อโควิด-19 และเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อไปยังคนอื่นๆ ทั้งเพื่อนแรงงานข้ามชาติ และคนไทยอื่นๆ ด้วย” คุณชายไทย รักษาชาติ ผู้จัดการโครงการฯ มูลนิธิศุภนิมิตฯ กล่าว
โดยในเดือนมกราคม 2022 ที่ผ่านมา โครงการฯ ได้มีการ จัดอบรมพัฒนาความรู้โควิด-19 การเข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ และบริการด้านสาธารณสุขในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ให้กับเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติ ทั้งชาวเมียมนา กัมพูชา และเวียดนาม รวมกว่า 220 คนใน 4 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ และยังมีการสร้างกลุ่มใน Facebook ได้แก่ ‘CIM Center: Covid-19 info for Migrant Workers in Thailand’ และ ‘MHVs Covid-19 Response’ โดยจัดทำเป็นภาษาเมียนมาและภาษาอังกฤษ เพื่อสื่อสารให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติเข้าถึงความรู้โควิด-19 การป้องกันตนเอง รวมถึงรับรู้ช่องทางการเข้าถึงบริการฉีดวัคซีนได้สะดวกยิ่งขึ้นด้วย
“เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขข้ามชาติเหล่านี้ จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยเหลือเพื่อนกลุ่มแรงงานข้ามชาติของพวกเขาให้เข้าถึงสิทธิ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ช่วยลดข้อจำกัดด้านการสื่อสารและความไว้วางใจ เอื้อประโยชน์ในการส่งต่อความรู้ไปสู่ทุกชุมชนแรงงานข้ามชาติ การจัดเก็บข้อมูลเพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยงได้อย่างทั่วถึง รวมไปถึงการมีส่วนร่วมนำปัจจัยจำเป็นเพื่อการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไปส่งมอบให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติในชุมชน รวมถึงการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่เคย ได้รับการฉีดวัคซีนให้เข้าถึงสิทธิ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วย” คุณชายไทย ให้ภาพรวมการทำงานเพื่อมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้าไม่ถึงสิทธิ์ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
Thi Nowun, Dang หนึ่งในเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา กล่าวถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือเพื่อนแรงงานข้ามชาติ ‘ไร้สิทธิ์’ ให้สามารถเข้าถึงบริการฉีดวัคซีน “เราทำงานที่ตลาดไทจังหวัดปทุมธานีซึ่งเคยมีการระบาดรุนแรงจนต้องปิดตลาดไปแล้ว ลำบากมาก ยังมีเพื่อนแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนหนึ่งที่เขาอยู่แบบไม่มีตัวตนด้วยข้อจำกัดต่างๆ ไม่กล้าออกไปไหน รับจ้างเด็ดขั้วพริก หรืองานรับจ้างรายวันอยู่กับบ้าน เพื่อนแรงงานเหล่านี้ยังไม่เคยได้รับสิทธิ์วัคซีนค่ะ เขาไม่กล้า สื่อสารภาษาก็ไม่ได้ ทำให้ไม่รู้ข้อมูลจำเป็น บางครอบครัวมีลูกๆ อาศัยอยู่ด้วย หากเราไม่ช่วยเหลือพวกเขาเด็กๆ ก็จะมีความเสี่ยงที่สูงมากที่จะได้รับเชื้อโควิด-19 ภูมิใจมากที่จะได้ช่วยเหลือพวกเขา โดยเฉพาะให้สามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งจะเป็นวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดรุนแรง ที่จะทำให้พวกเรา ทำให้แรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบเรื่องงาน เรื่องรายได้ และการใช้ชีวิตด้วยค่ะ”
ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ส่งผลให้มีจำนวนผู้ได้รับเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานโครงการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จึงยิ่งต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ภายหลังการอบรมฯ เครือข่ายอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ พร้อมด้วยผู้ประสานงานโครงการฯ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้รุดหน้าส่งต่อความรู้ไปสู่ทุกชุมชนแรงงานข้ามชาติ พร้อมเร่งจัดเก็บข้อมูลเพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยงได้ในหลายชุมชนแล้ว
โครงการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งเป้าหมายว่าในระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่พฤศจิกายน 2021 – เมษายน 2022 จะสามารถช่วยเหลือให้แรงงานข้ามชาติกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนประมาณ 2,000 คนได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันตนเองจากโควิด-19 รวมถึงการส่งต่อความรู้โควิด-19 และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 สู่กลุ่มแรงงานข้ามชาติอีก ซึ่งจะเป็นการปกป้องลูกๆ และเด็กคนอื่นๆ ในชุมชนแรงงานข้ามชาติให้ปลอดภัยจากความเสี่ยงของโควิด-19