close

This option is currently not available

Close close
ลดปัญหา สร้างความเข้าใจ “จ้างงานอย่างเป็นธรรม”

ลดปัญหา สร้างความเข้าใจ “จ้างงานอย่างเป็นธรรม”

ILO แสนสิริ และศุภนิมิต ส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติแก่ผู้ประกอบการ

สำหรับผู้ประกอบการหรือนายจ้าง การจ้างงานและการทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับความท้าทายทางด้านข้อกฎหมาย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง โครงการการเข้าถึงแรงงานหญิงข้ามชาติและครอบครัวในบ้านพักแรงงานก่อสร้าง (REACH –Reaching Women Migrant Workers and Their Families in Construction Camps) ดำเนินงานโดย มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนจาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ผ่าน โครงการปลอดภัยและยุติธรรม (Safe and Fair Programme) โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้มีการจัด การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง ‘การจ้างงานอย่างเป็นธรรม และปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงาน’ โดยแก่นหลักสาระในการอบรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้มุ่งเน้นการเสริมความรู้ด้านข้อกฎหมาย และหลักปฏิบัติที่ถูกต้องในการจ้างแรงงานข้ามชาติ เพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมายในการว่าจ้างแรงงานที่อาจเกิดขึ้น

ในการนี้ ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตฯ เป็นตัวแทนมูลนิธิศุภนิมิตฯ กล่าวเปิดกิจกรรมการอบรมและยังมีวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลด้านสิทธิแรงงานและแรงงานข้ามชาติร่วมให้เกียรติมาบรรยายแก่ผู้เข้าร่วมตลอดทั้งวัน

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการบรรยายประเด็นการจ้างงานอย่างเป็นธรรม และการคุ้มครองแรงงาน โดย คุณนิลิม บารัวห์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และมีการบรรยายประเด็นสิทธิแรงงานและการคุ้มครองแรงงาน โดย คุณบุญธรรม ศรีสมาน นักวิชาการแรงงานชำนาญการ กองคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับการว่าจ้างแรงงานและกฎหมายการคุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยเน้นไปที่ พรบ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งคุ้มครองทั้งฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้าง เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการว่าข้อกฎหมายนั้นคุ้มครองอย่างยุติธรรมทั้งสองฝ่าย และนายจ้างสามารถนำไปปรับใช้ได้ตรงตามกระบวนการมากยิ่งขึ้น

ในกิจกรรมต่อมา คุณธีรยุทธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้นำเสนอเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) และเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมอบรมระดมความคิดพร้อมทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนกับการทำธุรกิจ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการดูแลปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของแรงงาน การให้ความเท่าเทียมบนชาติพันธุ์ที่แตกต่าง สิทธิและสวัสดิการของแรงงาน การปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน รวมถึงการจัดจ้างแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศโดยคำนึงถึงความเป็นธรรม

นอกจากนี้ คุณปภพ เสียมหาญ ที่ปรึกษากฎหมายโครงการ REACH ปิดท้ายการอบรมด้วยการทำกิจกรรมประเมินตนเองเกี่ยวกับการว่าจ้างแรงงานข้ามชาติที่แต่ละสถานประกอบการเคยทำ หรือทำอยู่ และชวนวิเคราะห์ความถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ กฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิมนุษยชน เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติอย่างถูกต้องซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของแรงงานข้ามชาติอย่างยั่งยืน

มันมีสิทธิหลายๆ อย่างที่ทั้งกับตัวนายจ้างแล้วก็ตัวลูกน้องเอง เป็นสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อน เราไม่รู้ว่ามันมีกฎหมายตรงนี้ ก็มีบางอย่างที่มันอาจจะไม่ได้ถี่ถ้วนขนาดนั้น เราก็ต้องปรับใช้ให้มันถูกต้องมากที่สุดเพื่อที่การทำงานมันจะได้ดำเนินต่อไปได้ครับ คุณวรรลพ ทองพิกุล ไซต์โฟร์แมน หนึ่งในผู้เข้าร่วมการอบรมกล่าวถึงความสำคัญของความรู้ด้านกฎหมายที่จำเป็นต่อการนำไปใช้ในฐานะที่ตนเป็นนายจ้าง

แม้นายจ้างส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการจัดจ้าง แต่ในการปฏิบัติจริงยังมีความท้าทายที่ขึ้นอยู่กับบริบทของแรงงานที่ต่างกันไป การเสริมความรู้ด้านกฎหมายและข้อปฏิบัติภาครัฐ ตลอดจนให้ความรู้ด้านการคุ้มครองแรงงานจึงเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยให้นายจ้างซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดแรงงานมากที่สุดได้มีส่วนในการส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงสิทธิที่ทุกคนพึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน โครงการการเข้าถึงแรงงานหญิงข้ามชาติและครอบครัวในบ้านพักแรงงานก่อสร้าง (REACH) มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้มีการฝึกอบรมผู้ประกอบการ ผู้รับเหมา และนายจ้างเรื่องการจ้างงานอย่างอย่างเป็นธรรม สิทธิสตรี สิทธิเด็ก และการปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงาน รวมถึงการดำเนินงานสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้รับเหมายึดถือและปฏิบัติในการสรรหาบุคลากรอย่างเป็นธรรมไปแล้วกว่า 100 ราย