close

This option is currently not available

Close close
เสริมภูมิรู้ให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) สื่อสารความเสี่ยงและการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในกลุ่มประชากรต่างชาติในประเทศไทย

เสริมภูมิรู้ “เครือข่าย อสต.”

การอบรมพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครแรงงานต่างชาติสื่อสารความเสี่ยงโควิด-19

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่คลี่คลายดีขึ้น นำไปสู่มาตรการผ่อนคลายภาครัฐและการปฏิบัติตนของหลายๆ คน ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีช่วงที่ผู้ติดเชื้อรายวันลดลง แต่ก็กลับมาระบาดรุนแรงในเดือนสิงหาคม 2021 ที่มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนสูงถึงกว่า 20,000 – 23,000 คนต่อวัน และระบาดรุนแรงต่อเนื่องข้ามปีกว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ให้ค่อยๆ ลดลงได้ในปัจจุบัน บทเรียนนี้ทำให้ โครงการสื่อสารความเสี่ยงและการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในกลุ่มประชากรต่างชาติในประเทศไทย ดำเนินงานโดย มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจาก สหภาพยุโรป และ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ยังคงเดินหน้าทำงานเพื่อให้ทุกคน รวมถึงกลุ่มแรงงานต่างชาติ ได้รับโอกาสที่จะป้องกันตนเองจาก COVID-19 อย่างเท่าเทียมกัน โดยได้จัดกิจกรรมเสริมภูมิรู้ให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) เสริมบทบาทในการสื่อสารและสร้างความตระหนักแก่เพื่อนแรงงานต่างชาติถึงความสำคัญกับการป้องกันตนเองอย่างถูกต้องแม้การระบาดจะลดลงก็ตาม

การอบรมทบทวนความรู้และทักษะให้แก่ผู้รับสายด่วนแรงงานต่างด้าว 1422 ในประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพ และโควิด-19 คือกิจกรรมแรกที่ได้จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนมิถุนายน

Noeun VAN อสต. ชาวกัมพูชา วัย 32 ปี ทำหน้าที่ในการเป็นผู้รับสายด่วน 1422 สำหรับแรงงานต่างชาติต่อเนื่องกว่า 2 ปีแล้ว เล่าสิ่งที่ได้รับการเสริมภูมิรู้ว่า “คุณหมอให้ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 อาการของโรคและช่วงเวลาที่ก่อให้เกิดการอักเสบ ซึ่งจะทำให้ประเมินและเฝ้าระวังความรุนแรงของการป่วยได้ แนะนำระเบียบที่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเอื้อประโยชน์สำหรับผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานต่างชาติ ผู้รับสายด่วน 1422 ต้องลงทะเบียนในระบบ Thai Care เพื่อช่วยเหลือเพื่อนแรงงานต่างชาติให้เข้าถึงการรักษา ให้เขาได้รับยาตามอาการ และเป็นล่ามสื่อสารระหว่างผู้ป่วย หมอ พยาบาล ให้ความสำคัญกับการต้องแยกตัวผู้ป่วยและลูกๆ เพื่อป้องกันเด็กไม่ให้ได้รับเชื้อตามไปด้วย และที่คุณหมอเน้นคือทุกสายที่โทรเข้ามา เราต้องคุยเรื่องการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด ตรวจ ATK ให้ถูกต้อง โดยเฉพาะถ้าเดินทางไปในที่ที่มีความเสี่ยง”

Noeun VAN เสริมอีกว่าความรู้ที่ได้รับเพิ่มเติมนี้สอดคล้องกับคำถามจากเพื่อนแรงงานต่างชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ช่วงระบาดรุนแรงปีที่แล้ว คำถามจะเกี่ยวกับอาการโรค สถานที่ตรวจและรักษา สถานที่ฉีดวัคซีน แต่ปีนี้จะเป็นคำถามเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติและการทำวัคซีนพาสปอร์ตเพื่อเดินทางกลับประเทศ คำถามเกี่ยวกับการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น และก็ยังมีผู้ได้รับเชื้อโทรเข้ามาต่อเนื่อง

อีกหนึ่งกิจกรรมคือ การอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) เพื่อพัฒนา อสต. ทดแทนกลุ่มที่เดินทางกลับประเทศ และเพิ่มจำนวน อสต. ให้การทำงานได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น อสต. ต้องมีความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 การป้องกันตนเอง และมีศักยภาพในการสื่อสารไปสู่เพื่อนแรงงานต่างชาติได้ถูกต้อง

ทนพ.โฆษิต กรีพร ทีมเทคนิคการแพทย์จิตอาสา (MT Heroes) วิทยากรใน การอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) กล่าวถึงเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ อสต. จะต้องมีความรู้ว่า “มาตรการการป้องกันตนเอง หรือ Universal Protection คือเว้นระยะห่าง ไม่ใช้มือสัมผัสตา จมูก ปาก สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้าการอนามัย หมั่นล้างมือ ปิดปาก-จมูกเมื่อไอหรือจาม ทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อยๆ การป้องกันตนแบบนี้ นอกจากช่วยป้องกันการได้รับเชื้อ COVID-19 แล้วยังสามารถป้องกันโรคติดต่ออื่นๆ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคมือเท้าปากในเด็ก ได้ด้วย ความรู้เบื้องต้นเพื่อการมีสุขอนามัยที่ดี อสต.ทุกคนจะได้รับการฝึกให้สามารถตรวจ ATK ได้อย่างถูกต้องด้วย ATK ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น อีกเรื่องคือความรู้เกี่ยววัคซีนโควิด-19 เหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องเน้นให้ อสต. ซึ่งจะเป็นผู้ไปสื่อสารสู่เพื่อนแรงงานต่างชาติของพวกเขาต่อไป”

ตาม วิน จอ อสต. ชาวเมียนมาร์ วัย 24 ปี จากปทุมธานี เล่าสิ่งที่เข้าได้รับความรู้ในครั้งนี้ว่า “เข้ามาเป็น อสต. ได้ 1 เดือนครับ ผมทำงานโรงงานชำแหละไก่ อยากใช้เวลานอกจากงานช่วยเหลือเพื่อนต่างชาติที่มาอยู่มาทำงานในไทย ผมเข้าใจบทบาทและหน้าที่ อสต. มากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับการสื่อสารความเสี่ยงและการป้องกันตนเองจากโควิด-19 ทั้งการป้องกันตนเองอย่างถูกต้อง การเข้าถึงชุมชนพี่น้องแรงงานต่างชาติ การประสานงานกับผู้นำชุมชนหรือผู้นำแรงงานต่างชาติจะทำให้เราทำงานได้อย่างราบรื่น การรู้จักชุมชนที่เราไปทำงานก็สำคัญ โดยเฉพาะสถานที่ที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ รพ.สต. โรงพยาบาล ร้านขายยา รวมถึงหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินต่างๆ เพราะในอีกบทบาทหนึ่งของ อสต. คือการจัดการให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตามสิทธิที่เขามี เป็นล่ามช่วยการสื่อสาร เพื่อให้การรักษาทั้งจากหมอ พยาบาล และความเข้าใจของผู้ป่วย ถูกต้องที่สุด รวมถึงการรายงานมูลนิธิศุภนิมิตฯ กรณีต้องการความช่วยเหลือพิเศษ”

ในปี 2022 “โครงการสื่อสารความเสี่ยงและการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในกลุ่มประชากรต่างชาติในประเทศไทย” ดำเนินงานโดย มูลนิธิศุภนิมิตฯ ภายใต้การสนับสนุนจาก สหภาพยุโรป และ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้มีการดำเนินงานอบรมพัฒนาศักยภาพ อสต. เพิ่มเติมกว่า 65 คน เมื่อเสริมทัพกับ อสต. ที่ได้เคยอบรมส่งเสริมความรู้ไปแล้ว ทำให้การสื่อสารความเสี่ยงและการป้องกันตนเองจากโควิด-19 ไปสู่กลุ่มแรงงานต่างชาติในชุมชนต่างๆ มากกว่า 12,300 คน และยังมีการมอบอุปกรณ์ป้องกันตนเองจากโควิด-19 ให้แก่แรงงานต่างชาติ ครอบครัว และอุปกรณ์ป้องกันเฉพาะสำหรับเด็กๆ รวมแล้วกว่า 123,000 ชิ้นอีกด้วย

เพราะเพื่อนแรงงานต่างชาติก็คือส่วนหนึ่งของทุกชุมชน การเฝ้าระวัง ส่งเสริมความรู้ และเพิ่มศักยภาพในการป้องกันตนเองจากโควิด-19 ให้กับพวกเขา ก็คือการป้องกันทุกคนให้ปลอดภัยจากโรคระบาดที่ยาวนานมากว่า 2 ปี เพื่อเราทุกคนจะสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้เฉกเช่นปกติ