ปัญหาในระบบการศึกษาของประเทศไทย เป็นประเด็นที่ถูกนำมาพูดถึงกันอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือปัญหาความยากจนของครอบครัวเด็กนักเรียน ซึ่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ปัญหานี้ถูกทำให้แย่ลงด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่นอกจากจะสร้างผลกระทบทางด้านสุขภาพ สังคม และยังส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจด้วย
จากข้อมูล กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า “ตัวเลขรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนที่ลดลง จำนวนเด็กนักเรียนที่ตกอยู่ในกลุ่มยากจนและยากจนพิเศษมากขึ้น มีนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงระดับชั้นรอยต่อ (ป.6 ม.3 และ ม.6) มากกว่า 85,000 คนในช่วงเวลาดังกล่าว”
โรงเรียนสมาคมพยาบาลไทย จ.น่าน ในพื้นที่ดำเนินงาน โครงการพัฒนาฯ จังหวัดน่าน พื้นที่ดำเนินงานถ้ำเวียงแก เป็นอีกแห่งที่พบปัญหาความยากจนในครอบครัวของเด็กนักเรียน ผู้ปกครองส่วนมากประกอบอาชีพรับจ้างและเกษตรกรรม มีรายได้น้อยและไม่แน่นอน การส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ระหว่างเรียน ลดภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว ดูจะเป็นหนทางที่จะช่วยบรรเทาปัญหาเด็กนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้เบาบางลงได้
ด้วยการสนับสนุนจากผู้อุปการะที่มอบให้กับเด็กในชุมชนที่ถ้ำเวียงแก มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้ร่วมกับ โรงเรียนสมาคมพยาบาลไทย และผู้นำชุมชน ดำเนินงาน โครงการส่งเสริมทักษะอาชีพแก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียน เด็กนักเรียนได้เรียนรู้และฝึกทักษะอาชีพหลากหลาย ทั้งการทำเครื่องดื่ม (กาแฟ) การทำขนมเบเกอรี่ รวมถึงการสนับสนุนให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ อาชีพการปักผ้าม้ง ซึ่งเป็นทั้งการฝึกทักษะอาชีพและการสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นและชาติพันธุ์ด้วย ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนสามารถแปรรูปผ้าปักม้งเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย ในชื่อแบรนด์ “เหลอปั๊วะ”