close

This option is currently not available

Close close
รูปแบบโครงการเพื่อการดำรงชีวิตเด็กและครอบครัว

รูปแบบโครงการเพื่อการดำรงชีวิตเด็กและครอบครัว

โควิด-19 ระลอกใหม่นั้นรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมาหลายเท่าตัวและไม่รู้ว่ามันจะจบลงเมื่อไหร่ เศรษฐกิจ สุขภาพและสังคม ถูกท้าทายอย่างรุนแรงและแน่นอนว่ามันอาจกระทบความเป็นอยู่ของหลายครอบครัว บ้างตกงาน ขาดรายได้และเจ็บป่วย บ้างมีความทุกข์ ขาดความสุข เครียดสะสม แต่ในสถานการณ์ยากลำบากเช่นนี้ยังมีอีกหลายครอบครัวที่กำลังเรียนรู้ พัฒนาและปรับตัว เพื่อให้สามารถรับมือและเผชิญกับสถานการณ์นี้ได้อย่างยั่งยืน

มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานภาคีในท้องถิ่น อาทิ สำนักงานพัฒนาชุมชนฯ สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานประมงและหน่วยงานปกครองท้องถิ่น ดำเนินรูปแบบโครงการเพื่อการดำรงชีวิตเด็กและครอบครัว (Livelihood Technical Programme) โดยมีวัตถุประสงค์ให้เด็กและครอบครัวที่ยากไร้เปราะบางสามารถรับรู้ปรับตัวต่อภาวะผลกระทบทางเศรษฐกิจและสามารถดำรงชีวิตได้

คุณธนอนันต์ ก่อนันทน์ธนัตถ์ ผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการฯ ได้ให้รายละเอียดของการดำเนินรูปแบบโครงการฯ ว่า“รูปแบบโครงการเพื่อการดำรงชีวิตเด็กและครอบครัว (Livelihood Technical Programme) เกิดจากปัญหาของครอบครัวเป้าหมายที่เราพบเจออย่างหลากหลาย อาทิ ครอบครัวเป้าหมายกว่า 85.8% พึ่งพาอาหารจากตลาด โดยในจำนวนเป้าหมายทั้งหมด มีครอบครัวเพียง 40% เท่านั้นที่มีการสร้างแหล่งอาหารในครัวเรือน ปัญหาความเสี่ยงของเกษตรกรในการรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายอันจะนำมาซึ่งปัญหาอาหารที่ไม่ปลอดภัยที่ครัวเรือนต้องบริโภคเข้าไป ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยการดำเนินการในครั้งนี้เราได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในชุมชนที่เราดำเนินโครงการฯ ผ่านกระบวนการสร้างความตระหนักต่อการมีแหล่งอาหารในครัวเรือนเพื่อรองรองรับวิกฤติเศรษฐกิจ โดยการสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านการเรียนรู้ชุมชน สนับสนุนให้เกิดความตระหนักรู้ต่อคุณค่าของต้นทุนชีวิตของตนเองและนำจุดเด่นของศักยภาพของตนเองมาใช้ในการวางแผนชีวิตร่วมกับครอบครัว เสริมความรู้ทักษะด้านการผลิตวัตถุดิบอาหารที่ปลอดภัยโดยใช้หลักการเกษตรธรรมชาติ สร้างสมดุลของแปลงเกษตร โดยอาศัยประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม การใช้พันธ์พืชที่หลากหลายตามวิถีชีวิตในท้องถิ่น”

โดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้ดำเนินการกับครอบครัวเป้าหมายกว่า 800 ครัวเรือน ใน 6 พื้นที่ ได้แก่ โครงการพัฒนาฯลานสัก จ.อุทัยธานี โครงการพัฒนาฯผาขาว จ.เลย โครงการพัฒนาฯบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ โครงการพัฒนาฯดงหลวง จ.มุกดาหาร โครงการพัฒนาฯศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ และ โครงการพัฒนาฯลำเลียง จ.ระนอง

รูปแบบโครงการเพื่อการดำรงชีวิตเด็กและครอบครัว

คุณวินัยและคุณอังสนา เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาฯ บึงโขงหลง เล่าประสบการณ์การทำงานให้ฟังว่า “เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาฯบึงโขงหลง เราได้เริ่มต้นดำเนินโครงการฯ โดยการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องเกษตรธรรมชาติ ความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์รวมถึงการเก็บเมล็ดพันธุ์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ปกครองเด็กในความอุปการะ จำนวน 250 ครอบครัว โดยรับความร่วมมือจากเกษตรอำเภอบึงโขงหลง มาเป็นวิทยากรให้ความรู้และคำแนะนำ ร่วมกับ คุณไสว ป้องทรายชม ปราชญ์ชุมชน ที่ให้เกียรติมาถ่ายทอดความรู้การทำการเกษตรแบบผสมผสาน ซี่งทำให้ผู้ปกครองเด็กเกิดความตระหนัก ความรู้ ทักษะและประสบการณ์ที่จะสามารถนำไปปรับใช้ในครัวเรือน และเพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรายังได้พาผู้เข้ารับการอบรมเดินทางไปศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียง ซึ่งต่อจากนี้เราได้มีแผนในการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และปัจจัยการผลิตเบื้องต้นในการปรับปรุงแปลงเกษตรเพื่อสร้างแหล่งอาหารในครัวเรือนต่อไป” ซึ่งปัจจุบันกลุ่มเป้าหมาย 800 ครอบครัว ในพื้นที่ 6 ชุมชน กำลังอยู่ในขั้นตอนการสร้างแปลงอาหารจากความรู้ ทักษะ ต้นทุนที่ได้กล่าวมาในข้างต้น เพื่อให้มีวัตถุดิบที่ปลอดภัยในการดำรงชีวิต

ทั้งนี้ รูปแบบโครงการเพื่อการดำรงชีวิตเด็กและครอบครัว (Livelihood Technical Programme) คือ ส่วนหนึ่งที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ เข้าไปให้ความช่วยเหลือเด็ก ครอบครัวและชุมชน ปัจจุบันมูลนิธิศุภนิมิตฯ มีพื้นที่ดำเนินงาน 76 ชุมชน ใน 42 จังหวัด ซึ่งยังมีอีกหลายชุมชนที่ยังยากลำบากและต้องการการสนับสนุนจากท่าน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความอยู่ดีมีสุขให้แก่เด็ก ครอบครัวและชุมชนที่ยากไร้ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนร่วมกับเราได้ที่ https://www.worldvision.or.th/