เราทุกคนมีสิทธิที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ) และเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลสุขอนามัย โภชนาการ และสภาพแวดล้อม (อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก) แต่เชื่อหรือไม่ว่า ขยะ ไม่ว่าจะเป็นขยะเศษอาหาร ขวดแก้ว กระดาษกล่อง ฯลฯ หากไม่มีการจัดการที่ดี ขยะเหล่านี้จะส่งผลถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมในการมีคุณภาพชีวิต และการมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
เพื่อให้ทุกคน โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติที่ทำงานในสถานที่ก่อสร้าง ได้รับการส่งเสริมให้เข้าถึงสิทธิพื้นฐานในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเพื่อให้เด็กที่ติดตามพ่อแม่มาอาศัยในบ้านพักแรงงานก่อสร้างได้เข้าถึงสิทธิในการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย โครงการการเข้าถึงแรงงานหญิงข้ามชาติและครอบครัวในบ้านพักแรงงานก่อสร้าง (REACH) ซึ่งเป็นการผนึกกำลังร่วมกันระหว่าง มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) โดยได้รับการสนับสนุนจาก องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ผ่าน “โครงการปลอดภัยและยุติธรรม” (Safe and Fair Program) ได้จัดให้มีการอบรม ‘ความปลอดภัยและการแยกขยะในสถานที่ก่อสร้าง’ โดยได้รับความร่วมมือในการให้ความรู้จาก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
“ขยะต่างๆ ที่มีอยู่ในสถานที่ก่อสร้างเราสามารถกำจัดด้วยวิธีต่างๆ ที่ง่ายที่สุดก็คือการลดการใช้-Reduce การนำกลับมาใช้ซ้ำ-Reuse ขยะบางประเภท เช่น ขวดแก้ว เศษเหล็ก เราสามารถนำไปรีไซเคิล-Recycle โดยนำกลับเข้าสู่กระบวนการแปรรูป ยกตัวอย่างการหลอมขวดแก้วที่แตกนำมาขึ้นรูปเป็นภาชนะแก้วที่พร้อมใช้ประโยชน์ได้ และอีกวิธีที่จะแนะนำให้แรงงานต่างชาติคือ Upcycle เป็นการนำสิ่งของหรือวัสดุที่ไม่ได้ใช้แล้ว หรือขยะบางประเภท นำมาประดิษฐ์ ออกแบบ แปรรูป เป็นของใช้ที่มีมูลค่าและใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเดิม” นายบรรพต ดาวล้อม นักวิชาการพัฒนาฝีมือแรงงานชำนาญการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าว