ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ระบุว่า ต่อครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์สูงถึง 7,517 บาท คิดเป็น 67.5% ของรายได้ต่อเดือนต่อครัวเรือนของกลุ่มครัวเรือนฐานราก หรือกลุ่มคนจนที่สุด ที่มีรายได้ครัวเรือนเพียงแค่ 11,135 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) ข้อมูลเหล่านี้ยืนยันได้ว่า...ครัวเรือนฐานราก กลุ่มคนที่จนที่สุด กำลังเผชิญกับวิกฤตที่ยากลำบาก ในสภาวะเช่นนี้ อาหารคือสิ่งที่ครัวเรือนเลือกลดให้เหลือน้อยที่สุดเป็นลำดับแรก ในขณะที่เด็กและเยาวชนเมื่อเห็นพ่อแม่ต้องอยู่ในภาวะยากลำบาก ความคิดและสิ่งที่เด็กและเยาวชนจะเลือกลงมือปฏิบัติคือ หยุดชีวิตการเรียนเพื่อออกมาทำงานช่วยเหลือครอบครัว ซึ่งจะส่งผลกระทบสู่โอกาสในการพัฒนาต่างๆ ของเด็กและเยาวชนด้วย
ในบทบาทของการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาโดยมีเด็กเป็นหัวใจหลัก มูลนิธิศุภนิมิตฯ ตระหนักและเล็งเห็นถึงปัญหาความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสำคัญเหล่านี้จะส่งผลให้ครอบครัวเด็กที่ยากจนอยู่แล้วต้องดำเนินชีวิตที่ยากลำบากมากยิ่งขึ้น จึงเร่งดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวที่ด้อยโอกาส ยุติวงจรแห่งความยากจน พร้อมสนับสนุนให้ครอบครัวมีแหล่งอาหารที่ปลอดภัย
มูลนิธิศุภนิมิตฯ โดย โครงการพัฒนาฯ จ.น่าน จึงได้ ร่วมกับ สำนักงานเกษตร อ.สองแคว จ.น่านดำเนิน “การอบรมเชิงปฏิบัติการ ความรู้การทำเกษตรธรรมชาติ การออกแบบแปลงเกษตร และการคัดเลือกพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในการดำเนิน โครงการการดำรงชีวิตเพื่อความมั่นคงในชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท โบอิ้ง จำกัด โดยมีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย และเกษตรกรที่เป็นผู้ปกครองเด็กในโครงการอุปการะเด็กของมูลนิธิศุภนิมิตฯ จำนวน 26 ครอบครัว ร่วมเรียนรู้การทำเกษตรธรรมชาติ การออกแบบแปลงเกษตร และการคัดเลือกพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์
ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก กลุ่มวิสาหกิจเกษตรทฤษฎีใหม่ ต.ดงมะดะ จ.เชียงราย และเจ้าหน้าที่จาก สำนักงานเกษตร อ.สองแคว จ.น่าน เป็นวิทยากรให้ความรู้ ซึ่งภายหลังการอบรมทุกครอบครัวยังได้รับการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์การทำการเกษตรที่จำเป็น เพื่อกลับไปใช้ต่อยอดสร้างแหล่งอาหารในครัวเรือน