คุณรัตนธิดา ฉายภาพการพัฒนาจิตอาสาแก่เยาวชนว่า “ในส่วนของการพัฒนาจิตอาสาให้กับเยาวชนนั้น เรามีการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการริเริ่มสิ่งที่อยากจะแก้ไขประเด็นปัญหาของสังคม โดยเยาวชนจะได้พัฒนาและเรียนรู้ด้วยตนเองว่ารอบตัวของพวกเขามีอะไรที่เป็นประเด็นสำคัญ เป็นข้อท้าทาย เราทำหน้าที่เป็นกำแพง เป็นคนที่เฝ้าดูและให้ข้อแนะนำเมื่อเยาวชนต้องการคำปรึกษา การออกแบบไอเดีย การลงมือสร้างสรรค์โครงการต่างๆ เป็นสิ่งที่เยาวชนลงมือขับเคลื่อนเองทั้งหมด ในระหว่างการทำงานโครงการที่ริเริ่มโดยเยาวชนร่วมกับเพื่อนผู้นำเยาวชน รวมถึงร่วมกับผู้ใหญ่ จะเป็นอีกขั้นการพัฒนาที่เยาวชนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่าง และการพัฒนาตนเองเพื่อที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ทั้งจิตอาสา ความสามารถในการยอมรับความแตกต่างได้อย่างสร้างสรรค์ เป็นต้นทุนสำคัญที่จะทำให้เยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ”
อวดผลงาน 'โครงการที่ริเริ่มโดยเยาวชน'
กนกวรรณ อายุ 17 ปี และ วัชราพร อายุ 18 ปี ผู้นำเยาวชนศุภนิมิตฯ จาก อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร อวดผลงานโครงการที่ริเริ่มโดยเยาวชนที่พวกเธอร่วมกับเพื่อนๆ ได้สร้างสรรค์ตลอดปีที่ผ่านมา “สิ่งที่พวกเราต้องการเปลี่ยนแปลงคือปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว เราเห็นเพื่อนเยาวชนถอยห่างออกจากพ่อแม่แล้วไปให้ความสำคัญกับเพื่อนหรือใครก็ไม่รู้นอกบ้าน ซึ่งหลายคนก็ก้าวข้ามไปสู่การเกี่ยวข้องกับสิ่งไม่ดีต่างๆ เราแก้ไขด้วยการจัดกิจกรรมอบรมเรื่องครอบครัวสุขสันต์ ตอนที่เราไปอบรมทักษะชีวิตเยาวชนเราเห็นประโยชน์ของการที่ครอบครัวเห็นความสำคัญ แสดงออกถึงความรักระหว่างกัน กล้าที่จะขอโทษ และยอมรับที่จะให้อภัย เราได้รับการสนับสนุนจากคุณหมอที่โรงพยาบาล และพี่เจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ มาช่วยเป็นวิทยากร ในการอบรมเราให้ทั้งพ่อแม่และลูกมาอบรมด้วยกัน สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือก่อนจะจบการอบรมพ่อแม่หลายคนบอกกับพวกเราว่านี่เป็นครั้งแรกที่พ่อแม่ลูกได้กอดกัน ได้ขอโทษ ได้ให้อภัยกัน มันดีมากค่ะที่ได้เห็นภาพแบบนี้เกิดขึ้น สำหรับพวกเรา ครอบครัวคือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน”
อีกหนึ่งกิจกรรมที่อยากยกตัวอย่างคือ โครงการพัฒนาฝายชะลอน้ำ ของกลุ่มผู้นำเยาวชนศุภนิมิตฯ จาก จ.แม่ฮ่องสอน โครงการนี้สะท้อนให้เราเห็นถึงความตระหนักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และผลกระทบด้านสิทธิที่เด็กและเยาวชนได้รับ และเมื่อมีโอกาสพวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงมัน
“เหตุผลที่เราเลือกทำฝายชะลอน้ำเนื่องจากในหมู่บ้านของหนูเนี่ยเป็นหมู่บ้านเล็กในป่าใหญ่ มีห้วยเสือเฒ่าไหลผ่าน ห้วยเสือเฒ่าก็จะเป็นเหมือนต้นน้ำ ในป่าที่เป็นต้นน้ำ แต่เพราะป่าบนเขามันถูกรุกรานจนต้นไม้ที่ทำหน้าที่ชะลอน้ำมันทำหน้าที่ไม่ได้แล้ว เวลาหน้าฝนจะมีน้ำป่ารุนแรง ทำให้เราไม่สามารถออกจากหมู่บ้านได้ ไปโรงเรียนก็ไม่ได้ พ่อแม่จะทำมาหากินก็ไม่ได้ ไหนจะอันตรายอีก ส่วนในหน้าแล้งเราจะไม่มีน้ำใช้ ห้วยเสือเฒ่าจะแห้ง น้ำที่พอจะมีบ้างก็จะสกปรก อันนี้ก็เกิดจากเหตุผลเดียวกันค่ะ ต้นไม้ที่ทำหน้าที่ซึมซับน้ำไว้มันไม่เหลือไงค่ะ ก็เลยไม่เหลือน้ำพอจะหล่อเลี้ยงห้วยได้ พวกเราก็เลยจัดทำฝายชะลอน้ำขึ้นค่ะ ชะลอน้ำไม่ให้ไหลแรงในฤดูฝน และเป็นฝายกักเก็บน้ำให้คงเหลืออยู่จนถึงหน้าแล้งด้วย เรายังไม่มีประสบการณ์ในด้านนี้ แต่พี่เจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ก็คอยช่วยเหลือสนับสนุนเรา พวกเราจัดกิจกรรมตรงกับวันสำคัญ ขอการสนับสนุนจาก อบต. และผู้นำชุมชน วันงานมีคนมาช่วยกันทำฝายเต็มเลย ดีใจมาก ถึงแม้ว่าพวกเราจะยังเป็นเด็ก แต่ทุกคนไม่มองแบบนั้น ทุกคนให้การสนับสนุนเรา รับฟังพวกเราที่เป็นเด็ก” วนิดา อายุ 15 ปี ผู้นำเยาวชนศุภนิมิตฯ จาก จ.แม่ฮ่องสอน