ปัจจุบันประเทศไทยมีบุคคลที่ตกอยู่ในภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติกว่า 4 แสนคน แบ่งเป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานานประมาณ 3 แสนคน และกลุ่มบุตรที่เกิดในประเทศไทยประมาณ 1 แสนคน การไม่มีสถานะบุคคลนำไปสู่การถูกเลือกปฏิบัติ การกีดกันจากการมีส่วนร่วมในสังคม ส่งผลให้ประชากรกลุ่มนี้ตกอยู่ในสภาวะเปราะบาง มีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
มูลนิธิศุภนิมิตฯ มีแนวทางการทำงานเพื่อปกป้องและคุ้มครองเด็กอย่างรอบด้าน ครอบคลุมถึงเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยมุ่งแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล
ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิทธิขั้นพื้นฐานและคุณภาพชีวิตของเด็กกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ การดำเนินงานมุ่งเน้นการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการและดูแลเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนควบคู่กับความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ ยังเน้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและเครือข่ายภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความร่วมมือใน
การพัฒนาสถานะบุคคลของเด็กกลุ่มเป้าหมายอย่างยั่งยืน
คู่มือการปฏิบัติงานฉบับนี้ ซึ่งมูลนิธิศุภนิมิตฯ มีส่วนร่วมจัดทำร่วมกับกรมการปกครอง เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง
มีความเข้าใจในหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และแนวทางปฏิบัติในการจัดการกับสถานะบุคคลอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างเหมาะสม และสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานการทำงานที่เป็นสากล
ด้วยความร่วมมือจากกรมการปกครอง หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม มูลนิธิศุภนิมิตฯ มุ่งมั่นทำงานเพื่อให้เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพอย่างครบถ้วน โดยยึดหลักการที่ว่า ทุกคนควรได้รับโอกาสและสิทธิเท่าเทียมกัน เพื่อสร้างสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
อย่างแท้จริง
ปีที่เผยแพร่ : 2025
คู่มือปฏิบัติงานการให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 17 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

คู่มือปฏิบัติงานการให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 17 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
กรมการปกครอง และ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย