
'ลาหู่' และครอบครัว
'ลาหู่' เยาวชนชาติพันธุ์จาก จ.เชียงใหม่ เติบโตในครอบครัวยากไร้ พ่อแม่มีอาชีพรับจ้างรายวัน รายได้ขั้นต่ำไม่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงดูลูกถึง 5 คน
ผู้นำการเปลี่ยนแปลง-Changemaker ยุติความรุนแรงต่อเด็ก #WorldVision
กว่า 5 ปีแล้วที่ 'ลาหู่' ได้เป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์การยุติความรุนแรงต่อเด็กในประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงาน โครงการยุติความรุนแรงต่อเด็ก : ละเลย เลยรุนแรง ของ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ร่วมกันทั่วโลกของศุภนิมิตสากล-World Vision ‘It Takes a World to End Violence Against Children’ โดยดำเนินงานต่อเนื่องมานับตั้งแต่ปี 2017 ด้วยความเชื่อมั่นเต็มหัวใจว่าเด็กที่เปราะบางจะสามารถมีชีวิตที่บริบูรณ์ได้หากพวกเขาได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมจากพ่อแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเด็กๆ เติบโตโดยปราศจากความรุนแรง และได้รับการปกป้องสิทธิ ในฐานะตัวแทนผู้นำเยาวชนจากมูลนิธิศุภนิมิตฯ ทุกเวทีทั้งระดับประเทศ ระดับนานาชาติ หรือแม้กระทั่งในการพบกับตัวแทนบริหารจากกระทรวงต่างๆ 'ลาหู่' ยืนหยัดแสดงพลังของเยาวชนในการสร้างความตระหนักพร้อมเสนอแนะแนวทางเพื่อการยุติความรุนแรงต่อเด็ก ด้วยหัวใจแน่วแน่และการลงมือทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ส่งผลให้ 'ลาหู่' ได้รับการยอมรับจากศุภนิมิตสากล-World Vision ในฐานะ ‘ผู้นำการเปลี่ยนแปลง – Changemaker’ ร่วมกับเยาวชนจากทวีปต่างๆ ทั่วโลก
'ลาหู่' เยาวชนชาติพันธุ์จาก จ.เชียงใหม่ พ่อแม่มีอาชีพรับจ้างรายวันเป็นแรงงานในภาคการเกษตร ซึ่งแน่นอนว่ารายได้ขั้นต่ำไม่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงดูลูกถึง 5 คน มูลนิธิศุภนิมิตฯ ให้ความช่วยเหลือลาหู่ผ่าน โครงการอุปการะเด็ก ทั้งการส่งเสริมโอกาสด้านการศึกษา ที่ดำเนินงานควบคู่กับการพัฒนาชีวิตด้านต่างๆ ของเด็กยากไร้ โอกาสในวัยเด็กที่ลาหู่ได้รับนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเขาและครอบครัว ทั้งการสนับสนุนการเลี้ยงไก่ การทำเกษตรครัวเรือน เพื่อให้เกิดแหล่งอาหารที่มั่นคงในครัวเรือน และเป็นรายได้เพิ่มเติม
'ลาหู่' มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตเยาวชนตั้งแต่เขาอายุ 13 ปี ด้วยวัยและการศึกษาเพียงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เขาได้เรียนรู้และพัฒนาหลายทักษะ หลังจากเข้าร่วมค่ายพัฒนาทักษะเยาวชนอย่างต่อเนื่อง 3 ปีหลังจากนั้น ลาหู่ในวัย 16 ปี ก็ได้รับโอกาสในการนำทักษะต่างๆ นั้นมาใช้ในฐานะผู้นำเยาวชนร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ทำกิจกรรมแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อชีวิตของเยาวชนในชุมชนทางภาคเหนือ
“ตอนนั้นในชุมชนมีปัญหาเรื่องสารเสพติด ตัวผมเองก็เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อใช้สารเสพติด ทําให้มีปัญหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพ่อละเลยลูกๆ ทำให้ไม่ได้รับความอบอุ่นครับ จนถึงปัจจุบันปัญหาสารเสพติดในชุมชนก็ยังคงมีอยู่ มีเด็กและเยาวชนได้รับความรุนแรงจากผู้ใหญ่ในครอบครัวที่ใช้สารเสพติด รวมถึงเด็กและเยาวชนเองที่ขาดภูมิคุ้มกันชีวิตเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการใช้สารเสพติดด้วยครับ ผมและเพื่อนจะเน้นการทำกิจกรรมรณรงค์ทั้งในโรงเรียนและในชุมชน ผมแก้ปัญหายาเสพติดด้วยวิธีสามอย่าง หนึ่ง ให้ความรู้กับเด็กว่ายาเสพติดมันมีโทษยังไง แล้วเราไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว สอง ให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เราชวนเด็กเรียนรู้กิจกรรมสนุกสร้างสรรค์ เป็นการเปลี่ยนเวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และสามก็คือสร้างความตระหนักรู้แก่ชุมชน กับผู้ใหญ่ ให้เกิดความรู้ว่าสารเสพติดส่งผลกระทบถึงเด็กอย่างไร และผู้ใหญ่ควรใส่ใจดูแลเด็กให้มากขึ้น”
ในปี 2019 'ลาหู่' ได้รับคัดเลือกเป็น ‘ประธานเยาวชนศุภนิมิตจังหวัดเชียงใหม่’ และได้รับโอกาสเข้าร่วม ‘การประชุมสุดยอดเด็กเอเชีย 2019 – 2019 Asian Children’s Summit’ ซึ่งจัดขึ้นในโอกาส 30 ปีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
“ผมรู้สึกโชคดีและเป็นเกียรติอย่างมากครับที่ได้มีโอกาสได้เข้าร่วมเวทีระดับนี้ มันเป็นโอกาสที่ดีมากๆ เลยครับ ผมได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสิทธิของเด็กและเยาวชนจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย น่าสนใจและน่าตื่นเต้นมากครับ ในเวทีนี้ผมได้ขับเคลื่อนประเด็นเรื่องของสัญชาติไทยสำหรับเด็กชาติพันธุ์ซึ่งไม่ได้มีแค่ทางภาคเหนือของประเทศเท่านั้น ทางภาคใต้ เช่น อุรักลาโว้ย ยังมีอีกหลายๆ คนในประเทศไทย เรียกว่ากลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ได้รับการยอมรับในเรื่องสัญชาติ ประเด็นนี้สำคัญสำหรับพวกเราที่เป็นเด็กและเยาวชนมากครับ เพราะมันทำให้เด็กถูกตีกรอบด้วยข้อจำกัดบางอย่าง เช่น เป็นครูไม่ได้ รับราชการไม่ได้ การเดินทางออกนอกถิ่นที่อาศัยก็มีข้อจำกัดครับ เราพยายามเสนอประเด็นนี้ขึ้นมาในเวทีระดับอาเซียนเพื่อหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย”
ในวิกฤตการระบาดของโควิด-19 'ลาหู่' ปรับบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นผู้สนับสนุนและช่วยเหลือให้เด็กและกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ชุมชนและจังหวัดของเขาสามารถเข้าถึงปัจจัยจำเป็นเพื่อการป้องกันตนเองจากการได้รับเชื้อ โดยร่วมลงพื้นที่กับเจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ มอบสิ่งของจำเป็นต่างๆ และถุงยังชีพ ทันทีที่พ้นจากช่วยการจำกัดการเดินทาง
ในสถานการณ์วิกฤตสุขภาพเกือบ 2 ปีเต็ม มีเด็กและเยาวชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพพื้นฐาน เด็กบางคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ความรุนแรงต่อเด็กที่ทวีมากขึ้นโดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ยังไม่นับรวมถึงผลกระทบทางด้านจิตใจที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตนี้ 'ลาหู่' เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า ‘ละเลยเลยรุนแรง’ เพราะเราละเลยที่จะดูแลเด็กด้านสุขภาพ เราละเลยที่จะให้โอกาสการเรียนรู้แก่เด็ก เราละเลยที่จะดูแลและให้ความสำคัญต่อสุขภาพใจของเด็ก
“วิกฤตโควิด-19 ปัจจัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี สื่อสังคมออนไลน์ เป็นตัวเร่งให้ความรุนแรงต่างๆ เพิ่มมากขึ้น บวกกับการที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ยังคง ‘ละเลย’ ที่จะมองเห็นและตระหนักว่าปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเด็กและเยาวชน ยกตัวอย่างจนถึงปัจจุบันปัญหาสารเสพติดในชุมชนของผมก็ยังมีอยู่ มันส่งผลให้เกิดความรุนแรงในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงความรุนแรงอื่นๆ ด้วย” ลาหู่ กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการทุ่มเททำงานร่วมกับผู้นำเยาวชนศุภนิมิตฯ จากทุกภาคของประเทศไทย โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในการรณรงค์เรื่อง ‘ละเลยเลยรุนแรง’ ทั้งการสะท้อนปัญหา จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ทั้งในเวทีระดับประเทศ นานาชาติ และรวมถึงจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายนำเสนอต่อตัวแทนจาก 5 กระทรวง
‘ละเลยเลยรุนแรง’ ในความหมายของลาหู่และเพื่อนผู้นำเยาวชนศุภนิมิตฯ ประกอบไปด้วย
“ปัญหาสภาพแวดล้อมและพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน การพัฒนาสถานศึกษาขนาดเล็กในชุมชนห่างไกลเพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้แก่เด็กเปราะบางยากไร้ การแก้ไขข้อกำหนดเชิงนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการของเด็กทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กชาติพันธุ์และเด็กไร้รัฐ ส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างมีคุณภาพ และการให้ความสำคัญกับเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ เพิ่มประชากรคุณภาพ ลดปัญหาเด็กที่เกิดจากความไม่พร้อม นี่คือ 4 ข้อเสนอแนะที่ผมและเพื่อนผู้นำเยาวชนในฐานะตัวแทนของเยาวชนทุกคนได้นำเสนอต่อตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และตัวแทนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ลาหู่ เล่าถึงความพยายามเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยมีหมุดหมายที่การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับนโยบาย
ปัจจุบัน 'ลาหู่' กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา “ผมเป็นสมาชิกครอบครัวเพียงคนเดียวที่ได้ศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี ผมได้รับโอกาสนี้เพราะมูลนิธิศุภนิมิตฯ สนับสนุนทุนในการเรียน และผมได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวของผม พ่อแม่ที่ต้องทำงานหนักขึ้น รวมถึงพี่สาวของผมที่เสียสละไม่ศึกษาต่อเพื่อมอบอนาคตที่ดีกว่านี้ให้กับผม ซึ่งแน่นอนว่าผมจะใช้โอกาสนี้อย่างเต็มที่ และผมจะพยายามทำอะไรก็ได้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของชุมชนของเราที่เป็นคนชาติพันธุ์ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาสำหรับผู้หญิง ผมตั้งใจว่าเมื่อผมเรียนจบ รายได้จากการทำงานของผมจะนำมาส่งเสียน้องสาวของผมให้ได้เรียนต่อสูงๆ เราต้องไม่ละเลยที่จะสนับสนุนให้ทุกคนได้รับโอกาสการศึกษาครับ”