
พัฒนาทักษะอาชีพเยาวชน ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าลีซู
ศุภนิมิตฯ แม่แตง จ.เชียงใหม่ พัฒนาอาชีพเยาวชนการเย็บผ้าปะติดลวดลายชาวไทยภูเขาลีซู
เสื้อผ้าสีสันสดใส ใช้เทคนิคการเย็บผ้าปะติดตกแต่งเครื่องแต่งกายให้สวยงาม ทั้งหญิงและชายจะมีเชือกคาดเอวที่ปลายเชือกเป็นพู่ไหมพรมทรงกลม นี่คืออัตลักษณ์การแต่งกายของชาวไทยภูเขาเผ่าลีซู อีกหนึ่งภูมิปัญญาด้านผ้าของชาวไทยภูเขาของประเทศไทย
เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ซึมซับวิถีชุมชน และสามารถต่อยอดภูมิปัญญาอันมีค่านี้ อีกทั้งยังจะสามารถแปรเปลี่ยนเป็นรายได้ระหว่างเรียน มูลนิธิศุภนิมิตฯ โครงการพัฒนาฯ แม่แตง จ.เชียงใหม่ ได้จัดการอบรม พัฒนาทักษะอาชีพเยาวชน เย็บผ้าลวดลายชนเผ่าลีซู ที่ โรงเรียนบ้านปางไม้แดง โดยมีเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่สนใจเข้าร่วมอบรม 11 คน
ทั้งนี้ ส่วนประกอบหรือลวดลายการเย็บผ้าปะติดที่น้องๆ เยาวชนได้รับการฝึกเป็นทักษะอาชีพนี้ ปัจจุบันเป็นที่ต้องการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมถึงนักออกแบบแฟชั่น นักออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อนำประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเสื้อผ้าแฟชั่นที่ต้องการสื่อสารอัตลักษณ์ไทย ผ้าปะติดลวดลายลีซูยังสามารถนำไปใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า หมวก หรือแม้แต่นำไปทำเป็นของใช้ของแต่งบ้านในแบบร่วมสมัยอีกด้วย
“หากนักเรียนที่สนใจ มีการฝึก พัฒนาฝีมือในการเย็บผ้าปะติดผ้าลวดลายลีซูจนชำนาญ ก็สามารถทำเป็นรายได้เสริมระหว่างเรียนได้ งานฝีมือแบบนี้ถึงจะมีคนใช้งานไม่มากนัก แต่ก็มีช่องทางในการจำหน่าย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ชอบใช้ผลิตภัณฑ์แบบไทยๆ ค่ะ” คุณครูโรงเรียนบ้านปางไม้แดง กล่าว
“หนูดีใจค่ะ ที่ได้มีโอกาสฝึกเย็บผ้าลายชนเผ่าแบบนี้ มันมีวิธีการที่แตกต่างจากการเย็บผ้าด้วยมือที่หนูเคยทำ เส้นด้ายจากการเย็บปะและลายผ้าที่ได้ก็ไม่เหมือนการเย็บด้วยจักรค่ะ และยิ่งดีใจมากค่ะที่มีผู้มีประสบการณ์เข้ามาสอนให้ความรู้ ความรู้ที่ได้วันนี้หนูสามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพสร้างรายได้ในอนาคตได้ค่ะ ขอบคุณมากๆ ค่ะ” น้องเฟิร์น ตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมการอบรมเล่าสิ่งที่ตนและเพื่อนได้เรียนรู้
และเพื่อให้เด็กนักเรียนได้รับการฝึกฝนทักษะฝีมืออย่างต่อเนื่อง โรงเรียนบ้านปางไม้แดง ยังได้นำการเย็บผ้าลวดลายชนเผ่าลีซูนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนในทุกๆ สัปดาห์อีกด้วย