
ระบบน้ำดื่มและเครื่องกรองน้ำ
“หน้าโรงเรียนมีถังเก็บน้ำขนาดใหญ่มากตั้งอยู่บนหอสูงครับ ใต้หอสูงมีเครื่องกรองน้ำให้สะอาด" ด.ช.พชรกรณ์ หรือ นะโม อายุ 11 ปี ชั้นประถม 5 เด็กในความอุปการะ อวดของขวัญสร้างสุขภาพที่ดีของเขา
“โรงเรียนของผมมีทั้งเครื่องกรองน้ำดื่ม แปลงเกษตร บ่อปลา มีอ่างล้างมือด้วย”
เพราะโรงเรียนคือบ้านหลังที่สองของเด็กๆ เป็นบ้านที่จะช่วยบ่มเพาะการเรียนรู้ สร้างเสริมสุขภาพ ปลูกฝังวินัย คุณธรรม และเสริมสร้างคุณค่าด้านจิตวิญญาณและจิตใจเพื่อให้เด็กพร้อมเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี ตลอดปีการศึกษาที่ผ่านมา โรงเรียนบ้านนาป่าคาย โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ดำเนินงาน โครงการพัฒนาฯ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้กลับมาเปิดการเรียนการสอนเต็มเวลาอีกครั้งหลังต้องปิดโรงเรียนจากวิกฤตโรคระบาดไปนานเกือบ 2 ปี หลายอย่างเสื่อมโทรมไปตามเวลา มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้เร่งปรับปรุง ซ่อม สร้าง ฟื้นฟู โรงเรียนในชุมชนห่างไกลแห่งนี้ให้คืนกลับสู่ความพร้อม มุ่งสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาให้โรงเรียนพร้อมส่งเสริมสุขภาพและอนามัยให้แก่เด็กยากไร้ในชุมชนห่างไกล
“มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นในโรงเรียนของพวกผมหลายอย่างเลยครับ มีแปลงเกษตร มีบ่อปลาดุก มีอ่างล้างมือ แปรงฟันใหม่ และยังมีน้ำดื่มสะอาดให้พวกเราได้ดื่มกันทั้งโรงเรียนเลยครับ ผมชอบเครื่องกรองน้ำดื่มเครื่องใหม่ที่สุดเลยครับ มันช่วยกรองน้ำสกปรก มีฝุ่น มีเชื้อโรค ให้กลายเป็นน้ำสะอาด และมีเครื่องทำเป็นน้ำเย็นด้วย ดื่มแล้วสดชื่นมากครับ เมื่อก่อนพวกเราต้องเอาน้ำดื่มมาจากที่บ้าน หรือไม่ก็ต้องมาซื้อที่โรงเรียน แต่ตอนนี้ไม่ต้องแล้วครับ โรงเรียนของพวกเรามีน้ำดื่มสะอาดแล้ว” ด.ช.พนมณัฐ หรือ ต้า อายุ 11 ปี ชั้นประถม 6 เด็กในความอุปการะ เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนของพวกเขา
เด็กชายพนมณัฐ
ด.ช.พนมณัฐ อายุ 11 ปี เด็กในความอุปการะ
เพื่อนตัวน้อย ด.ช.พชรกรณ์ หรือ นะโม อายุ 11 ปี ชั้นประถม 5 เด็กในความอุปการะ ยิ้มอวดเพิ่มด้วยว่า “หน้าโรงเรียนมีถังเก็บน้ำขนาดใหญ่มากตั้งอยู่บนหอสูงครับ ใต้หอสูงมีเครื่องกรองน้ำให้สะอาด พวกผมจะได้มีน้ำดื่มสะอาด ดื่มได้ทั้งโรงเรียนเลยครับ ส่วนที่โรงอาหารของโรงเรียนก็มีเครื่องกดน้ำเย็นใหม่ด้วย น้ำสะอาดน้ำเย็น ช่วยให้พวกเราสดชื่นมากเลยครับ”
คู่เพื่อนซี้ต่างวัยยังทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์น้อยนำชมของขวัญสร้างสุขที่โรงเรียนของพวกเขาได้รับจากมูลนิธิศุภนิมิตฯ
ต้า และ นะโม นำทางไปที่ด้านหน้าอาคารเรียน เดินตรงไปที่ อ่างแปรงฟัน และล้างมือ “เมื่อก่อนที่แปรงฟัน ที่ล้างมือของโรงเรียนเก่ามากครับ มันเป็นอิฐสีเทาผุๆ มีเศษอิฐแตก มีเศษทราย สกปรกทั้งพื้นและอ่างล้าง ไม่น่าเข้ามาใช้ล้างมือ ล้างหน้า หรือแปรงฟันเลยครับ แต่ตอนนี้พี่ๆ ศุภนิมิตฯ มาสร้างใหม่ มีกระเบื้องมุงสีสวย มีน้ำสะอาดด้วย พวกเราในโรงเรียนได้ใช้ล้างมือ ล้างหน้า แปรงฟัน รู้สึกสะอาดมากเลยครับ”
จุดนำชมต่อไปที่สองเด็กชายนำชมคือ แปลงเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ตอนนี้พื้นที่เล็กๆ ด้านหลังโรงเรียนบ้านนาป่าคาย ถูกปรับเป็นแปลงเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีทั้งแปลงผักสวนครัว และบ่อปลาดุก
“คุณครูสอนพวกผมให้ปลูกผักด้วยครับ ตอนนี้พวกผมกำลังปลูกผักบุ้งครับ เราต้องพรวนดินให้ละเอียด โปรดเมล็ดพันธุ์ คอยรดน้ำให้ชุ่มชื้น เมล็ดพันธุ์จะค่อยๆ งอกขึ้นมาครับ เราต้องคอยเด็ดหญ้าออกด้วย ปลูกผักบุ้งใช้เวลาแค่ 2-3 อาทิตย์ก็เก็บไปส่งที่โรงอาหารทำเป็นมื้อกลางวันได้แล้วครับ ผักที่พวกผมปลูกเองกรอบ อร่อยมากๆ เลยนะครับ” เล่าจบ ต้า ก็ชวนเพื่อนๆ มาช่วยกันถอนหญ้าในแปลงผักบุ้ง
ส่วน นะโม ที่หายตัวไปก็เดินกลับมาพร้อมกับถือขันใส่อาหารปลา จูงมือเราไปที่บ่อปลาดุกที่อยู่ใกล้ๆ กัน “ปลาดุกยังตัวเล็กครับ ตอนเช้าและเย็นพวกผมก็จะมาช่วยกันให้อาหารปลาดุกครับ คุณครูและลุงนักการจะมาช่วยถ้าต้องทำความสะอาดบ่อปลาด้วยครับ นอกจากอาหารเม็ด เศษอาหารเราก็เอามาให้พวกมันกินได้ด้วย แต่ต้องคอยระวังอย่าให้มากเกินไป ไม่อย่างนั้นน้ำจะสกปรก เราจะเหนื่อยต้องล้างบ่อเปลี่ยนน้ำครับ”
ปัจจุบัน โรงเรียนบ้านนาป่าคาย มีเด็กนักเรียน 141 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กยากไร้ที่อยู่ใน โครงการอุปการะเด็ก “พอโรงเรียนปิดนานๆ แม้จะพยายามดูแลอย่างที่สุดแล้ว การไม่ถูกใช้งานนานๆ ทำให้โรงเรียนเสื่อมโทรมลงค่ะ พอโรงเรียนเปิดเราก็พยายามเร่งซ่อมบำรุง แต่บางอย่างก็เกินกำลังที่โรงเรียนขนาดเล็กจะทำได้ค่ะ ขอบคุณมูลนิธิศุภนิมิตฯ ของคุณผู้อุปการะของเด็กๆ ที่มอบความช่วยเหลืออุปการะเด็ก ทำให้โรงเรียนได้รับโอกาสในการพัฒนาให้มีความพร้อมในด้านต่างๆ มากขึ้นด้วยค่ะ” น.ส.อรัญญา อุ่นทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาป่าคาย กล่าวแทนเด็กนักเรียน
มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กำลังเร่งฟื้นฟูเพื่อคืนชีวิตให้แก่เด็ก ครอบครัว และชุมชน ให้กลับมามีความหวัง มีความสุข ได้อีกครั้งหลังจากวิกฤตโรคระบาดในช่วงเวลาที่ผ่านมา การอุปการะเด็กจากท่าน นอกจากเด็กในความอุปการะของท่านจะได้รับการสนับสนุนพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ แล้ว ครอบครัวของเด็ก ชุมชน สถานศึกษาของเด็กๆ รวมถึงเด็กคนอื่นๆ ในชุมชนก็จะได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆ กันด้วย การบูรณาการงานพัฒนาอย่างรอบด้านนี้ เพื่อให้เด็กได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของเด็กสู่ความอยู่ดีมีสุข