ต้นกล้าหนึ่งต้นกว่าจะโตมาเป็นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงและแผ่ร่มเงาได้นั้นจำเป็นต้องใช้เวลา การดูแลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แต่สำหรับเด็กและเยาวชนแล้ว อาจมีปัจจัยจำเป็นที่มากกว่านั้น เพื่อให้เขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์และมีความสุข ทักษะในการดำเนินชีวิตเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กและเยาวชน ตั้งแต่การค้นหาตนเอง การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การพัฒนาศักยภาพด้านบวก ผ่านการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะช่วยให้เยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีส่วนในการพัฒนาชุมชนของตนเอง
มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชน ได้ดำเนินรูปแบบโครงการพัฒนาชีวิตเยาวชน (Youth Development-Youth+) ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาทักษะชีวิตเชิงประยุกต์สำหรับเยาวชน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ค.ศ. 2021-2023 วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ ข้อที่3 ที่มุ่งเน้นให้เยาวชน 13-18 ปี มีต้นทุนและทักษะชีวิต เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยวิธีการดึงการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชนให้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเยาวชน ทั้งการเป็นแบบอย่างที่ดี การให้คำแนะนำและการดูแลเอาใจใส่ รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนแสดงออกอย่างสร้างสรรค์
ในวันที่ 6 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการ อบรมเชิงปฏิบัติการ “คู่มือสันทนาการทักษะชีวิตเยาวชน” โดยให้มีเนื้อหาของการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องทักษะชีวิต 5 ด้าน คือ ทักษะการคิดเชิงวิจารณญาณ ทักษะการจัดการอารมณ์ ทักษะการสื่อสาร,ทักษะการสร้างความสัมพันธ์และทักษะความรับผิดชอบต่อสังคม ให้แก่เจ้าหน้าที่ภาคสนามและแกนนำเยาวชน โดยมีแกนนำเยาวชน เจ้าหน้าที่และหุ้นส่วนทำงาน จำนวน 421 คน ใน 41 ชุมชน
คุณรัตนธิดา ประวัง ผู้ชำนาญการพิเศษด้านการพัฒนาเยาวชน มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เล่ารายละเอียดของการดำเนินโครงการฯ ว่า “การดำเนินโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ดำเนินการขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ภาคสนามและแกนนำเยาวชนที่เข้ารับการอบรมฯ เกิดทักษะในการดำเนินกิจกรรมพัฒนาเยาวชนในรูปแบบ TOT หรือ Training of Trainers โดยมีเนื้อหา เช่น การนำกิจกรรมสันทนาการ กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ร่วมไปถึงความสามารถในการเป็นวิทยากรนำกระบวนการอบรมตามคู่มือผู้นำสันทนาการทักษะชีวิตเยาวชน เพื่อขยายผลจัดกิจกรรมการอบรมพัฒนาทักษะชีวิตเยาวชนในพื้นที่การดำเนินของมูลนิธิฯ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ใน 4 ภาคของประเทศไทย โดยผู้เข้าอบรมจะได้มีโอกาสเรียนรู้ตามหลักสูตร 4-4-4-4 ได้แก่ 4 เทคนิคการนำสันทนาการ , 4 ปัญหาหลักเยาวชน , 4 เครื่องมือจัดกิจกรรมทักษะชีวิตและ 4 แนวทางการจัดกิจกรรมสันทนาการทักษะชีวิต”