หลังวิกฤตโควิด-19 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยว่า 25% ของเด็กปฐมวัย หรือเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีมีพัฒนาการที่ล่าช้าและขาดทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ ส่วนใหญ่เป็นเด็กในครอบครัวที่ยากจนมาก เป็นชนกลุ่มน้อย และเป็นเด็กที่อพยพไม่สามารถเข้าเรียนได้เพราะยากจน การไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารของเด็ก รวมถึงสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกลขาดความพร้อมยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กด้วย
บ้านห้วยมะพร้าว อ.แม่ระมาด จ.ตาก เป็นชุมชนชนบทบนดอยสูง ห่างไกล ทุรกันดาร เด็กและชาวบ้านที่นี่ยังขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาการไม่มีไฟฟ้า ซึ่งไม่เพียงกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้าน แต่ยังส่งผลโดยตรงต่อการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยที่กำลังเริ่มต้นพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ใน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านห้วยมะพร้าว การไม่มีไฟฟ้าทำให้เด็กตัวน้อยๆ ต้องอยู่ในห้องเรียนมืดๆ แสงสว่างไม่เพียงพอ และอากาศไม่ถ่ายเท การไม่มีไฟฟ้ายังส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเรียนรู้ก็ไม่เท่าเทียมกันของเด็กในชุมชนยากไร้แห่งนี้ด้วย เพราะสื่อการสอนที่ต้องใช้ไฟฟ้าไม่สามารถใช้ได้
นางสาวธัญญาพร ยศวิชัยพร หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านห้วยมะพร้าว กล่าวว่า “การไม่มีไฟฟ้าใช้ เป็นความลำบากของเด็กๆ ที่นี่มากค่ะ ยิ่งในช่วงเดือนเมษายนซึ่งเป็นฤดูร้อน ช่วงบ่ายของแต่ละวัน เป็นเวลาที่เด็กๆ ต้องนอนพักผ่อน หลายครั้งอากาศร้อนจนเด็กนอนหลับไม่สนิท และงอแง ซึ่งทางหน่วยงานในท้องถิ่นก็ได้ให้การสนับสนุนพัดลมเพื่อระบายอากาศ แต่เมื่อเราไม่มีไฟฟ้าใช้ พัดลมที่ได้รับมาก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้ค่ะ”