ในสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย แม้ว่าจะมีความพยายามในการควบคุมวัณโรคอย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการยุติวัณโรค ซึ่งมีเป้าหมายในการลดอัตราการเสียชีวิตจากวัณโรคร้อยละ 95 และลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ร้อยละ 90 ให้ได้ภายในปี 2578 แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีช่องว่างสำคัญในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในประชากรบางกลุ่ม เช่น ประชากรข้ามชาติ ผู้ใช้สารเสพติด พนักงานบริการ (Sex Workers) ผู้ต้องขัง และผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี เป็นต้น ประชากรกลุ่มเหล่านี้มักเผชิญกับอุปสรรคหลายประการในการเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษาวัณโรค ตั้งแต่ปัจจัยทางกฎหมาย ความไม่มั่นคงด้านสถานะทางกฎหมาย การขาดข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิด้านสุขภาพ ไปจนถึงอุปสรรคด้านภาษาวัฒนธรรมและการตีตราในระบบบริการ
การตีตราและการเลือกปฏิบัติ: อุปสรรคที่มองไม่เห็นแต่ส่งผลจริง
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ขัดขวางการเข้าถึงบริการ คือ การตีตรา (Stigma) และ การเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ซึ่งยังคงฝังรากลึกอยู่ในระบบบริการสุขภาพ ทัศนคติของบุคลากร และในชุมชนโดยรอบ ปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้ผู้ป่วยวัณโรค โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มประชากรหลัก รู้สึกไม่ปลอดภัยและลังเลที่จะเข้ารับการรักษา ทั้งจากประสบการณ์ตรงหรือจากการรับรู้ว่ามีคนเคยถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม เช่น การถูกตั้งคำถามด้วยถ้อยคำดูหมิ่น การเปิดเผยสถานะโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือการได้รับการบริการล่าช้ากว่าผู้อื่น ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความทุกข์ทางใจ แต่ยังเป็นสาเหตุของการหลุดจากระบบการรักษา และการวินิจฉัยที่ล่าช้า ซึ่งอาจนำไปสู่การแพร่เชื้อในวงกว้าง รวมถึงการเกิดเชื้อวัณโรคดื้อยา (Drug-resistant TB) ซึ่งเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบสาธารณสุข
เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ตลอดจนชุมชน จำเป็นต้องดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ครอบคลุมและมีความละเอียดอ่อนต่อความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ใช่เพียงในเชิงโครงสร้าง แต่ยังรวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และทัศนคติของผู้ให้บริการ การสร้างกลไกการรับฟังเสียงผู้ใช้บริการ และการเสริมพลังให้กับกลุ่มเปราะบางสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแนวทางการให้บริการ
จุดเริ่มต้นของความร่วมมือ: คณะทำงาน TB Task Force ด้านการตีตราและการเลือกปฏิบัติ
ในเดือนเมษายน 2568 มูลนิธิศุภนิมิตฯ ผู้รับทุนหลักภายใต้โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ด้วยชุดบริการ RRTTPR ปี 2567-2569 สนับสนุนโดยกองทุนโลก ได้จัดการประชุมเพื่อรายงานความก้าวหน้าในการจัดตั้งคณะทำงาน TB Task Force ด้านการตีตราและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการรวบรวมความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้านในประเด็นเฉพาะด้านการตีตราและการเลือกปฏิบัติ อาทิเช่น กรมควบคุมโรค กองวัณโรค กองโรคเอดส์ องค์กรบางกอกเรนโบว์ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย มูลนิธิผู้หญิงอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ คณะกรรมการกลไกความร่วมมือในประเทศ มูลนิธิวิจัยวัณโรคและโรคเอดส์ มูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย และ LFA โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการสร้างระบบบริการวัณโรคที่ปลอดจากอคติ
การประชุมครั้งนี้ยังได้หารือถึงการจัดเก็บข้อมูล ตัวชี้วัด TB O-9 (ร้อยละของผู้ป่วยวัณโรคที่รายงานว่าถูกตีตราจากชุมชน ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงบริการ) เป็นตัวชี้วัดใหม่ที่มุ่งเน้นการติดตามผลกระทบทางสังคมจากมุมมองของผู้ป่วยอย่างแท้จริง ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการบูรณาการ ประสบการณ์ของผู้ป่วย เข้าสู่ระบบข้อมูลของการควบคุมวัณโรค ไม่เพียงเพื่อการเฝ้าระวังเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ วิเคราะห์แนวโน้มของการตีตราในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการ พัฒนาแนวทางการตอบสนองเชิงนโยบาย ที่ตรงจุดและมีความละเอียดอ่อนต่อบริบทในท้องถิ่น ทั้งนี้
มีการหารือร่วมกันถึงแนวทางการจัดเก็บข้อมูล TB O-9 อย่างมีจริยธรรม ปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ให้ข้อมูล เพื่อให้เสียงของผู้ป่วยวัณโรคได้รับการสะท้อนอย่างครบถ้วนและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างเป็นรูปธรรม
ความหวังต่ออนาคต: เปลี่ยนระบบเพื่อทุกคน สู่ระบบสุขภาพที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ความก้าวหน้าของการจัดตั้ง TB Task Force ด้านการตีตราและการเลือกปฏิบัติในครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการพัฒนาดัชนีการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยวัณโรค ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพให้สะท้อนถึงหลักความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคมอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างยั่งยืน การดำเนินงานในระยะถัดไปจำเป็นต้อง:
• ส่งเสริมกลไกการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ
• สนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ให้เข้าใจประเด็นความหลากหลาย
• พัฒนาแผนสื่อสารสาธารณะเพื่อลดอคติในสังคม
• และสำคัญที่สุด คือการสนับสนุนบทบาทของประชากรข้ามชาติและประชากรหลักให้มีพื้นที่ในการสื่อสารและกำหนดทิศทางของระบบที่พวกเขามีส่วนได้ส่วนเสีย
ในที่สุด เป้าหมายของการยุติวัณโรคในประเทศไทยจะไม่อาจเกิดขึ้นได้หากยังมีบางกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม และยังต้องเผชิญกับการตีตราทั้งจากระบบและสังคมโดยรอบ การสร้างระบบสุขภาพที่มีมนุษยธรรมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คือหัวใจของการขับเคลื่อนในครั้งนี้ TB Task Force ด้านการตีตราและการเลือกปฏิบัติจึงมิใช่เพียงคณะทำงานเชิงเทคนิค แต่คือ กลไกแห่งความหวัง ที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่ความเท่าเทียมเป็นจริง ไม่ใช่เพียงในนโยบาย แต่ในทุกระดับของการดูแลรักษา