ในประเทศไทย แม้ว่าการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มประชากรบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มประชากรหลัก (Key Populations) ที่เผชิญกับความเสี่ยงสูงต่อวัณโรคและเอชไอวี ยังคงถูกกีดกันจากระบบสุขภาพเนื่องจากการตีตราและการเลือกปฏิบัติ การแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องการกลไกที่ตอบสนองจากระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นที่มาของ ‘บ้านเสมอ’ รูปแบบการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคทางเพศ และการสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืนจากชุมชนสู่ชุมชน
บ้านเสมอ: พื้นที่ปลอดภัยที่ชุมชนร่วมสร้างเพื่อสิทธิ ความเสมอภาค และสุขภาวะ
การเข้าถึงบริการด้านสิทธิและสุขภาพอย่างเท่าเทียมยังเป็นเรื่องท้าทาย โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้มีเชื้อเอชไอวี ผู้ใช้สารเสพติด และผู้ป่วยวัณโรค ที่มักเผชิญกับการตีตราและเลือกปฏิบัติ ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปีในการทำงานด้านสิทธิในประเด็นเอชไอวี มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย (FAIR) ร่วมกับกรมควบคุมโรค และภาคีทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ได้พัฒนา ‘สวัสดีปกป้อง’ หรือ ระบบรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ สุขภาวะทางเพศ และประชากรเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติ (Crisis Response System: CRS) ตั้งแต่ปี 2562 โดยเริ่มดำเนินงานใน 14 จังหวัด
ในปี 2567 FAIR ได้ต่อยอดระบบดังกล่าวเป็น ‘บ้านเสมอ’ ภายใต้โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ด้วยชุดบริการ RRTTPR ปี 2567-2569 สนับสนุนโดยกองทุนโลกและมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เพื่อขจัดอุปสรรคด้านสิทธิมนุษยชนและเพศภาวะในการเข้าถึงบริการด้านวัณโรคและเอชไอวี ‘บ้านเสมอ’ ทำหน้าที่เป็นด่านหน้าในการรับเรื่องร้องเรียน บันทึกข้อเท็จจริง ให้ข้อมูลและคำปรึกษา พร้อมประสานส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการผ่านทีมสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พร้อมให้บริการครอบคลุม 4 ด้านหลัก ได้แก่
• บริการด้านสิทธิ กฎหมาย และการถูกเลือกปฏิบัติ
• บริการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction)
• บริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์
• บริการด้านสุขภาพจิตและสุขภาวะ
หัวใจสำคัญของบ้านเสมอ คือ การออกแบบบริการที่เข้าใจผู้รับบริการ โดยคำนึงถึงการพัฒนากลุ่มเป้าหมายร่วมกัน (Targeting Triage) ความหลากหลายของผู้คน (Diversity) ความทับซ้อนของอัตลักษณ์ และบริบทเฉพาะของแต่ละคน เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับบริบทเฉพาะของแต่ละบุคคล โดยยึดหลักข้อเท็จจริง (Veracity) ให้สอดคล้องกับค่านิยม (Value) ของชุมชน พร้อมการทำงานเชิงข้อมูล การวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และการประสานความร่วมมือจากหลายสาขาวิชาชีพ ทำให้บ้านเสมอสามารถพัฒนาการจัดการกรณีการละเมิดสิทธิได้อย่างเป็นระบบ และนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ
บ้านที่ ‘เสมอ’ สำหรับทุกคน
คำว่า ‘บ้านเสมอ’ มีความหมายนั้นคือ ‘เสมอ’ หมายถึง ความเสมอภาค (Equality) และ ‘บ้าน’ หมายถึง สถานที่ที่เปิดรับทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าผู้เข้ารับบริการจะอยู่ในสถานการณ์แบบใด ต้นแบบนี้จึงเป็นมากกว่ากลไกการรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิ แต่ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน (Community-led Human Rights and Gender Service Model: CLHRGS) เพื่อขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มประชากรเปราะบาง อาทิ ผู้ใช้สารเสพติด ผู้มีเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยวัณโรค เป็นต้น ‘บ้านเสมอ’ ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่เผชิญกับการถูกลดทอนความเป็นมนุษย์และการเลือกปฏิบัติ พร้อมพัฒนาทักษะเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการถูกละเมิดซ้ำ และสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที นี่คือการทำงานที่รวมพลังของชุมชนในการปกป้องสิทธิ ฟื้นฟูสุขภาวะ และลดการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีสาเหตุหลักจากโรควัณโรค เอชไอวี และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง ผ่านแนวทางการทำงานเชิงรุก เชิงระบบ และเชิงนโยบายอย่างยั่งยืน
‘บ้านเสมอ’ กลไกที่สะท้อนให้เห็นถึงการบูรณาการประเด็นสิทธิมนุษยชน สุขภาวะทางเพศ และการลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับวัณโรคและเอชไอวี ผ่านกลไกที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนเอง แนวคิดของบ้านเสมอ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพในระดับโลกและระดับชาติ อาทิ
• ยุทธศาสตร์เอดส์โลก ปี 2564–2569
• ยุทธศาสตร์ยุติวัณโรคขององค์การอนามัยโลก
• แผนปฏิบัติการยุติปัญหาเอดส์แห่งชาติ ปี 2566–2569
• แผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค ระยะที่ 2 (ปี 2566–2570)
• แนวทางของกองทุนโลกที่ลงทุนสนับสนุนระบบตอบสนองภาวะวิกฤตโดยชุมชน (Community-Led Crisis Response System: CRS) และการเสริมสร้างระบบสุขภาพที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน (Resilient and Sustainable Systems for Health: RSSH)
ในระบบสุขภาพที่ชุมชนมีบทบาทนำ ประชาชนไม่ใช่เพียงผู้รับบริการ แต่เป็นผู้ร่วมออกแบบ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานด้านสุขภาพ การมีส่วนร่วมของชุมชนช่วยให้สามารถ
• ระบุปัญหาและอุปสรรคที่แท้จริงจากประสบการณ์ตรง
• เชื่อมโยงกับระบบบริการภาครัฐและภาคีต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
• เสริมพลังให้คนในชุมชนรู้เท่าทันสิทธิของตนเอง และสามารถปกป้องสิทธิเหล่านั้นได้
เสริมสร้าง ‘บ้านเสมอ’ ให้เข้มแข็ง: บทบาทของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในการเชื่อมโยงทรัพยากร ความร่วมมือ และชุมชน
ภายใต้โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ด้วยชุดบริการ RRTTPR ปี 2567–2569 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก
มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ ‘บ้านเสมอ’ ของ FAIR ซึ่งเป็นกลไกระดับชุมชนที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความเปราะบางในหลากหลายมิติ ทั้งด้านสุขภาพ สิทธิ และความหลากหลาย โดยมูลนิธิศุภนิมิตฯ ในฐานะผู้รับทุนหลัก (Principal Recipient) ได้บริหารจัดสรรงบประมาณจากกองทุนโลกให้กับหน่วยงานดำเนินงานในพื้นที่อย่างเป็นระบบ พร้อมสนับสนุนการพัฒนาเครื่องมือที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานในชุมชน อาทิ ชุดเครื่องมือประเมินสถานการณ์ความเปราะบาง และระบบรายงานข้อมูลที่ช่วยให้สามารถติดตาม ประเมินผล และนำข้อมูลจากพื้นที่มาใช้ในการวางแผนเชิงนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทจริง
ขณะเดียวกัน มูลนิธิศุภนิมิตฯ ยังทำหน้าที่เป็นกลไกกลางในการเชื่อมโยงการดำเนินงานของบ้านเสมอกับเครือข่ายภาครัฐ ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เพื่อสนับสนุนให้บ้านเสมอพัฒนาไปสู่กลไกสนับสนุนที่มั่นคงและยั่งยืน ไม่ใช่เพียงการดำเนินงานชั่วคราวตามกรอบโครงการ หากแต่เป็นพื้นที่บูรณาการการดูแลด้านสุขภาพ การคุ้มครองสิทธิ การขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่มีต่อประชากรกลุ่มเปราะบางได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการลดการแพร่ระบาดของวัณโรคและเอชไอวีในประเทศไทยในระยะยาว ทั้งนี้ ความเข้มแข็งของบ้านเสมอในฐานะกลไกชุมชนที่ทำงานเชิงรุกและสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ จะมีบทบาทสำคัญไม่ใช่เพียงการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาเท่านั้น แต่คือการยุติปัญหา โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังภายในปี 2573 สำหรับเอชไอวี และปี 2578 สำหรับวัณโรค ตามเป้าหมายของประเทศและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน ‘บ้านเสมอ’ เป็นพื้นที่ต้นแบบที่แสดงให้เห็นว่าการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพและสิทธิมนุษยชนโดยชุมชนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนได้
ผลลัพธ์และความท้าทายของการดำเนินงาน ‘บ้านเสมอ’
ระหว่างเดือนตุลาคม 2567 – มีนาคม 2568 ‘บ้านเสมอ’ ให้ความช่วยเหลือทั้งสิ้น 111 กรณี โดยผู้รับบริการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชากรหลัก ได้แก่ ผู้มีเชื้อเอชไอวี ผู้ใช้สารเสพติด และประชากรข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทย บริการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ บริการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด และบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ รองลงมาคือ บริการด้านสิทธิและกฎหมาย โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ติดต่อผ่านสายด่วนบ้านเสมอ ผลลัพธ์นี้สะท้อนถึงประสิทธิภาพของการทำงานเชิงรุกที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และรับฟังปัญหาได้โดยตรงในพื้นที่ นอกจากนี้ ทุกกรณีที่เข้ารับบริการยังได้รับการ คัดกรองสุขภาพจิต เพื่อให้คำปรึกษาแบบรายบุคคล และมีการจัดกิจกรรมกลุ่มสนับสนุนเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตอย่างรอบด้านอีกด้วย
แม้การดำเนินงานของระบบรับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิ (CRS) ได้ขยายไปยังหลายจังหวัดมากขึ้น แต่ในระดับพื้นที่ กลไกยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจาก ประเด็นสิทธิยังไม่ได้ถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการชุมชนอย่างเป็นระบบ ความท้าทายสำคัญ ได้แก่
• การขาดการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการรับเรื่องและจัดการข้อมูล
• การบริหารจัดการเคสยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับการวางแผนบริการในเชิงป้องกันได้
• การใช้ข้อมูลยังอยู่ในลักษณะ “รายงานผล” มากกว่า “ขับเคลื่อนการพัฒนา”
• การทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ยังแยกส่วน ขาดความเชื่อมโยงทั้งด้านข้อมูลและแนวทาง
ข้อมูลที่ถูกรวบรวมยังไม่ได้สะท้อนคุณค่าหรือความต้องการของชุมชนในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง อีกทั้งยังไม่สามารถนำไปวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อปรับบริการในระดับนโยบายหรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความท้าทายในการพัฒนาและการส่งเสริมให้กลไกดังกล่าวมีศักยภาพและความพร้อม มีทรัพยากรในการดำเนินงาน เพื่อให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องพื้นฐานที่สามารถจัดการได้โดยชุมชนเอง แต่ควรได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งในระดับพื้นที่ และระดับนโยบาย
ก้าวต่อไปของ ‘บ้านเสมอ’
‘บ้านเสมอ’ มุ่งยกระดับบริการด้านสิทธิ กฎหมาย และการลดการเลือกปฏิบัติ รวมถึงบริการด้านสุขภาวะและมิติอื่น ๆ ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการหลักอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายสำคัญใน 4 แนวทาง ดังนี้
• ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานบริการ ผลักดันให้บริการด้านสิทธิและการลดการตีตราไม่ใช่เพียง “งานเฉพาะกิจ” แต่เป็นบริการที่อยู่ในระบบหลัก มีมาตรฐานชัดเจน ตรวจสอบได้ และสามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
• ใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาแบบตรงจุด ประยุกต์ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการจำแนกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้บริการ “ตรงกลุ่ม ตรงวิกฤต ตรงเวลา” พร้อมทั้งสังเคราะห์ข้อมูลเชิงระบบ เพื่อใช้ผลักดันนโยบายที่ตอบโจทย์ความเป็นจริงในพื้นที่
• ผลักดันเข้าสู่ระบบสนับสนุนที่ยั่งยืน สร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับหน่วยงานกำหนดนโยบาย เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้บริการเหล่านี้ได้รับการยอมรับในฐานะ “บริการสุขภาวะ” ที่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ พร้อมจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่าน (Transition Plan) เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบการสนับสนุนที่มั่นคงในระยะยาว
• สร้างการรับรู้เรื่องสิทธิในระดับสาธารณะ ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจสิทธิของตนเอง (Know Your Rights) เพื่อสามารถป้องกันตนเองจากการถูกละเมิด และเข้าถึงการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
‘บ้านเสมอ’ คือต้นแบบสำคัญในการลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ เพิ่มการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และบริการที่จำเป็นด้านวัณโรคและเอชไอวี โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรหลักที่มักถูกมองข้าม ในอนาคต ‘บ้านเสมอ’ จะไม่ใช่เพียงจุดบริการหนึ่งเดียว แต่จะขยายผลไปยังองค์กรชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศ ทำงานเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพที่มีอยู่เดิมอย่างมีมาตรฐาน แข็งแรง และต่อเนื่อง เพื่อร่วมผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการยุติปัญหาวัณโรคและเอชไอวีตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้